เวียงแหงเมืองแห่งแดนลับแล

img_8989an
ร้านอาหารและที่พัก “เฮือนกิ่งกะหร่า” บ้านเปียงหลวง

      “เวียงแหง” ในความทรงจำของเราคือเมืองที่ทุรกันดาร เดินทางลำบาก ถนนมีแต่ลูกรัง และค่อนข้างไกลไปมาไม่สะดวก  แต่หลังจากที่เราได้มาสัมผัสกับที่นี่ ก็ไม่ได้เดินทางมาลำบากอย่างที่คิด เปิดมุมมองและประสบการณ์ใหม่ๆให้กับเรา “แอ่วดี” ได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า หมอกในยามเช้า อากาศเย็นสบาย นอกจากนั้นเรายังได้เห็นวิถีชีวิตที่หลากหลายของคนที่นี่ซึ่งมีมากถึง 9 ชาติพันธุ์   

      “เวียงแหง” อาจจะเป็นเมืองเล็กๆแต่ทรงคุณค่า ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายที่ที่รอการค้นพบ นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเราก็ขอเป็นส่วนหนึ่งของการตามรอยในครั้งนี้

img_8593an

การเดินทางมาเวียงแหง จากเชียงใหม่มาที่นี่มีระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง โดยเราใช้เส้นทาง เชียงใหม่-เชียงดาว แต่การเดินทางของเรา “แอ่วดี” ในครั้งนี้ พิเศษกว่าครั้งอื่น นั่นคือ การเดินทางตามรอยกองทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งในอดีต โดยก่อนเดินทางเราได้ไปสักการะขอพรยัง “พระธาตุดอยจอมแจ้ง” ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตง วัดเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ในอดีตวัดแห่งนี้ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์อีกจุดหนึ่ง เพราะมีทำเลที่ดีสามารถเห็นเมืองและแม่น้ำสายสำคัญได้อย่างชัดเจน

img_8616an

img_8607an

img_8598an

ตามตำนานเล่าขานกันว่า บริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าลั๊วะ (ปกครองโดยขุนหลวงวิลังคะ) ผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง โดยพ่อขุนเม็งราย และแม่ทัพพม่า ดังจะเห็นศิลปะของพม่าภายในบริเวณวัด  700 ปีให้หลัง เชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ ได้ยกทัพมาตีทัพพม่าจนแตกพ่าย ณ บริเวณด้านหน้าของวัด แล้วจึงได้จัดพิธีบวงสรวงสักการะเทพยดาที่วัดแห่งนี้ ก่อนที่จะเดินทัพไปบุกตีเมืองพม่า แต่พระองค์ได้ติดเชื้อไข้ป่าและสวรรคตยังเมืองหางเสียก่อน กาลเวลาล่วงเลยวัดก็ชำรุดทรุดโทรมแต่ผ่านการบูรณะอีกครั้งโดยครูบาศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนา) จนถึงปัจจุบัน

img_8668an

img_8683an

img_8674an

จากนั้นเราได้เดินทางต่อไปยัง “พลับพลาที่ประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ณ บ้านปางไม้แดง ต.บ้านช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งสถานที่นี้นอกจากเราจะแวะสักการะขอพรแล้วยังระลึกถึงพระองค์ที่ทรงปราบศัตรูที่เข้ามารุกรานชาติไทยจนหมดสิ้น สถานที่แห่งนี้ยังมีความสำคัญคือ เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ในอดีต สมเด็จพระนเรศวร ได้ใช้พักทัพ เพราะการเดินทัพในอดีตจะเดินตามเส้นทางแม่น้ำแม่แตง ก่อนที่จะเข้าตีเมืองนาย ซึ่งถือได้ว่าสงครามในครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้ายของไทยก็ว่าได้ ซึ่งผ่านมากว่า 410 ปีแล้ว

img_8737an

img_8722an

ก่อนที่เราจะเดินทางต่อไปยัง “เมืองกื๊ด” เข้า “เมืองคอง” เพื่อตามรอยการเดินทัพ แต่เนื่องจากวันที่เราเดินทางไปเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จึงเกิดน้ำป่าไหลหลาก ปิดกั้นถนน เราจึงต้องเปลี่ยนเส้นทาง โดยใช้เส้นทาง เชียงดาว (ทางไปถ้ำเชียงดาว) -เมืองคอง แทน การเดินทางในครั้งนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ใจคิด เพราะนอกจากจะฝนตกแล้ว ก็ยังเจอน้ำป่าไหลหลากจากที่นี่อีกครั้ง แต่จากความตั้งใจและศรัทธาในการเดินตามรอยในครั้งนี้ ก็ทำให้เราไม่ยอมแพ้ ยังคงบุกบั่นไปจนถึง “เมืองคอง” ซึ่งเราไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้มาก่อน การเดินทางมายังที่นี่ก็ไม่ธรรมดา เพราะทางขึ้นเป็นเขาสูงชัน สลับกับทางแคบที่เรียกได้ว่ารถยนต์แทบจะวิ่งได้เลนส์เดียว บรรยากาศสองข้างทางเป็นภูเขาสลับกับที่ราบลุ่ม  นอกจากนั้นยังได้เห็น “ดอยหลวงเชียงดาว” แบบชัดเจนอีกด้วย ดื่มด่ำกับวิวสองข้างทางจนลืมเวียนหัวกับทางอันแสนคดเคี้ยวกันเลยทีเดียว

img_8818an

img_8833an

img_8835an

จาก เมืองคอง ไปยัง เวียงแหง ถนนก็ถูกตัดขาดอีกเช่นกัน โดยน้ำป่าพัดถล่มเหมือนเส้นทางที่ผ่านมา เราจึงต้องเปลี่ยนมาใช้รถโฟร์วีล เพื่อตามเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในชีวิตของเราและคณะ ทั้งคนขับคนนั่ง  เริ่มต้นจากการขับรถเข้าป่าผ่านดินแดง และถนนที่แคบลงเรื่อยๆ อุปสรรคแรกที่เราพบ คือถนนขาด ด้วยความด้อยประสบการณ์ของเรา เราคิดแต่เพียงว่า การเดินทางในครั้งนี้คงสิ้นสุดลงด้วยการหันหลังกลับ เพราะไม่มีทางให้ไปนอกจากข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกราก และตัดต้นไม้ใหญ่ที่ล้มขวางถนนออก แต่ทุกคนก็สามัคคีพร้อมใจกัน เคลียร์ทางจนรถสามารถข้ามผ่านแม่น้ำทีละคัน จนสำเร็จ

img_8824an

การเดินทางในครั้งนี้ มีระยะทาง 25 กิโลเมตร ถ้าถนนปกติจะใช้เวลาในการเดินทางไม่นานนัก สำหรับการเดินทางของเราในครั้งนี้ ช่างดูยาวนานเหลือเกิน เพราะกว่าจะผ่านได้แต่ละกิโล ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการขับรถลุยแม่น้ำ ที่ดูเหมือนเส้นทางจะเปลี่ยนไปเพราะโดนน้ำป่าพัดถล่ม ทั้งยังเจอดินสไลด์ ดินทรุด ต้นไม้ล้มขวางทาง ขับผ่านเหวลึก ที่เราเกาะกันแน่น แทบจะกลั้นหายใจ ผ่านมาแต่ละจุดได้แบบตึงเครียดผสมตื่นเต้น แต่ในความตื่นเต้นนั้นก็แฝงไว้ด้วยความท้าทายที่อยากจะทราบถึงการเดินทางของกองทัพในอดีต การเดินทางทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เรียกได้ว่าหลุดมาจากป่าเราแทบจะโล่งใจกันเลยทีเดียว

img_8850an

img_8881an
ดีใจแค่ไหนถามใจเธอดู..ที่หลุดออกมาจากป่าได้

ประสบการณ์การเดินทางตามรอยการเดินทัพในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นถึงความมานะอุตสาหะของคนในอดีตยิ่งนัก ที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำเพื่อบ้าน เพื่อเมือง  สิ่งนี้เองที่ทำให้เราสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่บากบั่นทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง

img_9139an

img_9226an

เส้นทางต่อไปที่เรา “แอ่วดี” จะพาไปคือ บ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ อากาศที่นี่จะเย็นสลับกับฝนตลอดทั้งปี เนื่องจากลักษณะของที่นี่จะมีภูเขาและป่าไม้ค่อนข้างมาก และที่นี่เองยังติดเขตชายแดนหลักแต่ง ซึ่งในอนาคตที่นี่อาจจะเปิดการค้าเสรีเชื่อมทั้งสองชาติ ครอบคลุมในหลายๆด้าน ทั้งเศรษฐกิจและการคมนาคม ในความคิดของเราการมาเยือนเมืองที่เงียบสงบแฝงไว้ด้วยมนต์สเน่ห์แห่งนี้ เหมือนเรามาเยือนเมืองเดียวแต่หลายประเทศ จะสังเกตได้จากวัดของที่นี่เป็นศิลปะของพม่า โบสถ์ของวัดจะเป็นลักษณะคล้ายบ้านไม้ยกสูง บ้านเรือนบ้างก็คล้ายลักษณะบ้านของชาวจีนยูนนาน สมกับเป็นเมืองของคนหลากหลายชาติพันธุ์แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยคนที่นี่ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ

img_9011an

img_9009an

img_9160an

img_9082an

img_9187an

ยามเช้านอกจากจะเห็นสายหมอกโอบล้อมภูเขาแล้ว เรายังได้เดินชมตลาดเช้า ซึ่งมีสินค้าและอาหารมากมายที่ดูแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นโดนัทชาโคว์ (ที่เราแอบตั้งชื่อเอง) เป็นขนมวงชุบน้ำตาล, ข้าวถั่วพู หรือ ข้าวแรมฟืน, ขนมจีนพม่า จากนั้นเราได้เดินทางต่อไปยัง “วัดฟ้าเวียงอินทร์(WAT FA WIANG INN)” ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง สุดเขตประเทศไทย วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2400   ซึ่งวัดนี้เองมีเอกลักษณ์ที่พิเศษคือเป็นวัดเดียว แต่มี 2 แผ่นดิน ครึ่งหนึ่งอยู่ไทยอีกครึ่งหนึ่งอยู่พม่า โดยมีเจดีย์อยู่ฝั่งไทย แต่โบสถ์อยู่ฝั่งพม่า เราสามารถมองเห็นได้จากบริเวณจุดชมวิวด้านบน นอกจากนั้นด้านหน้าของจุดชมวิว ยังเป็นสุสานของนายพลโมเฮง อดีตผู้นำชาวไทใหญ่อีกด้วย   สถาปัตยกรรมของที่นี่จะเป็นแบบไทใหญ่ ด้านหลังของเจดีย์จะมีศาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งอยู่ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่าให้ความเคารพกันมาก

img_9113an

ยังมีวัดเก่าแก่อีกหนึ่งวัดที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวเวียงแหง และมีความสำคัญของการตามรอยของเราในครั้งนี้ นั่นคือ “วัดพระธาตุแสนไห” ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ในปี พ.ศ.2148 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาพักทัพบริเวณนี้ จึงได้ทำการบูรณะพระธาตุ(สถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่) ร่วมกับชาวบ้าน ก่อนที่จะยกทัพไปตีเมืองอังวะ

ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ได้เดินทางมาพักแรม ณ บริเวณ เขาลูกนี้ โดยมีชาวกระเหรี่ยง ได้นำอาหารมาถวาย พร้อมกับแตงโม พระอานนท์ได้นำแตงโมไปถวายพระพุทธเจ้าโดยทิ้งเปลือกลงในแม่น้ำ โดยต่อมาแม่น้ำแห่งนี้ ได้ชื่อว่า “แม่น้ำแตง” ซึ่งเรียกขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยแตงโม ฟัน(พระทนต์)ได้กระเทาะออก โดยกะเทาะภาษาเหนือ เรียกว่า “แหง” จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้มอบพระทนต์ ให้กับชาวกระเหรี่ยงเพื่อเป็นทาน(ทานเขี้ยวแหง) ต่อมาเมืองแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแหง” จากนั้นจึงได้นำพระทนต์นี้บรรจุและสร้างสถูปครอบไว้ ซึ่งต่อมาที่นี่ได้เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุแสนไหในปัจจุบัน

img_9230an

img_9218an

การเดินทางตามรอยประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ นอกจากจะได้ความรู้ ความตื่นเต้น และความประทับใจแล้ว เชื่อว่ายังสร้างจิตสำนึกให้เรารักชาติมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย เพราะได้เห็นความมานะอุตสาหะของคนในอดีต ที่กว่าจะรวมชาติไทยให้เป็นไทยจนถึงทุกวันนี้ ต้องแลกด้วยชีวิตและหยาดเหงื่อของคนในอดีตอย่างแท้จริง “แอ่วดี”ขอน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

76146_209936252481063_464734483_n

สถานที่แนะนำ

  • บ้านพัก เฮือนกิ่งกะหร่า บ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่  ที่พักเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น เงียบสงบ อากาศดี  ที่สำคัญวิวติดดอย ดูหมอกยามเช้าสวยมาก และที่นี่ยังมีห้องอาหาร ร้านกาแฟ บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย สำหรับใครที่คิดว่าที่นี่จะห่างไกลความเจริญ ไม่เลย เพราะไม่ไกลนักมี 7-11 อีกด้วย จากที่พักไปไม่ไกลนัก มีสถานที่ท่องเที่ยวคือ ด่านหลักแต่งและวัดฟ้าเวียงอินทร์ อีกยังสามารถเดินเที่ยวเก็บภาพชุมชน วัด ตลาดเช้า  ติดต่อสอบถามห้องพัก… คุณไก่ 087-1815055

ภาพและบทความ ปาณิสรา นฤประชา

 

 

2 thoughts on “เวียงแหงเมืองแห่งแดนลับแล

  • ตุลาคม 1, 2018 at 2:52 am
    Permalink

    รถเก๋ง​เล็กไปได้ไหมเส้นทางถนนเป็นยังไงครับ

  • ตุลาคม 2, 2018 at 7:31 am
    Permalink

    ตอนนี้สามารถไปได้แล้วค่ะ ถนนดีแล้ว

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น