Unseen in Chiangmai “พระบิ่นหลังต๋ำ” วัดดอยแท่นพระผาหลวง

Unseen in Chiangmai “พระบิ่นหลังต๋ำ” ณ บ้านโปง พาตามรอยประวัติศาสตร์บันทึกแห่งล้านนา วัดเก่าแก่อายุมากกว่า 700 ปี

แปลงร่างเป็นแม่นางการะเกศ ย้อนเวลาไปตามหาคุณพี่หมื่นกันเถอะ..คริคริ(วรั้ย!!มีความอินกะละคร)

พิกัด: วัดดอยแท่นพระผาหลวง บ้านโปง ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่(ขับมายังด้านหลังของมหาวิทยาลัยแม่โจ้)
https://goo.gl/maps/W2V9CSsTKp12

#แอ่วดีReview
www.aewdee-review.com

#เที่ยวเชียงใหม่#วัดสวยเชียงใหม่#วัดดอยแท่นพระผาหลวง#ตามรอยประวัติศาสตร์เชียงใหม่

ตั้งแต่อยู่เชียงใหม่มาตั้งแต่เกิด ยอมรับเลยว่าไม่เคยรู้จักหรือได้ข่าวคราวของวัดแห่งนี้มาก่อน จนได้มีโอกาสเขียนบทความรีวิวสถานที่ท่องเที่ยวบ้านโปงเราถึงได้รู้จักวัดแห่งนี้

การเดินทางมาบ้านโปง ต้องบอกก่อนว่า เราไม่เคยมายังสถานที่แห่งนี้มาก่อน เชื่อใจ!!น้อง GPS อย่างเต็มเปี่ยม แต่นางก็ดีนะ ชวนคุยไม่มีเหงา(ไม่ใช่แล่ะ 55) นางพามาหลง..อยากจิกรี้ดดังๆ พามาทางลัด ซึ่งทางลัดนี้ถนนมีความเป็นหลุมเป็นบ่อ หัวสั่นหัวคลอน กว่าจะถึงถนนลาดยาง เจอถนนมีความตื้นตันใจ(รอดแย้ว)..ปากทางเข้ายังบ้านโปง มองเผินๆยังกะขับรถเข้าอุทยานไหนสักที่ เพราะสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ ที่แลดูร่มรื่น(แต่จริงๆแอบร้อนสักนิดนะ) หากอยากสัมผัสกับธรรมชาติจริงๆ แนะนำให้ปิดแอร์ เปิดกระจก ให้ลมจากธรรมชาติกระทบใบหน้า สูดอากาศบริสุทธิ์สักนิด ฟังเสียงนกร้องขับขาน..อร้าย!!ฟินอ๊ะ
ขับมาตามทางเรื่อยๆ ผ่านหมู่บ้านเข้ามายังด้านใน จะพบกับอ่างเก็บน้ำห้วยโจ้ ขนาดเรามาในฤดูแล้งน่ะ ยังสวยขนาดนี้ มโนว่าถ้ามาที่นี่ในช่วงปลายฝนต้นหนาว ป่าของที่นี่คงจะเขียวขจี และสวยงามไม่น้อย
ขับเข้ามาตามทางเรื่อยๆ แอบเห็นดอกฝ้ายคำ รีบเบรครถดังเอี๊ยด!!วิ่งลงมากดชัตเตอร์แทบจะไม่ทัน ในวันที่ท้องฟ้าสีฟ้าคราม มันช่างตัดกับสีของดอกฝ้ายคำอะไรเช่นนี้
มัวแต่เพลินเก็บภาพ รถตามมาข้างหลังยังจิไม่รู้ตัว

 

หลังจากขับขึ้นเนินเขามาสักพัก เราก็พบกับทา งเข้าวัด ด้านขวามือเราจะเห็นพระนอนองค์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่ข้างทาง สวยงามจนเราแทบจะวิ่งลงจากรถไปเก็บภาพ..เห็นอะไรสวยเป็นไม่ได้ ต้องวิ่งตลอด 555
ในบริเวณเดียวกัน เราจะเห็นรูปปั้นของปู่เทพอสูร ซึ่งเจ้าอาวาสวัดองค์ปัจจุบันได้นำมาจากเมืองสิบสองปันนา ประเทศจีน
ขับขึ้นดอยมาได้ไม่ไกล ก็พบกับวัด..จากจุดจอดรถ เราสามารถมองเห็นหินศิลาก้อนยักษ์ ได้อย่างชัดเจน มีตำนานเล่าขานสืบต่อกันมา ว่าในอดีตได้มีนายพรานได้เข้ามาล่าสัตว์บริเวณนี้ แล้วได้ทำการแล่เนื้อ บริเวณหินศิลาแห่งนี้ ร้อนถึงเทวดาอารักษ์ที่ปกปักรักษาสถานที่แห่งนี้ ได้ไปบอกกล่าวกับพระอินทร์ พระอินทร์จึงได้แปลงกายเป็นหมูป่าตัวใหญ่ ขุดก้อนหินให้มีความลาดเอียงลงไป ชาวบ้านจึงเรียกที่นี่ว่า “ผาสะแคง”
เรื่องราวตำนานนี้ ถูกเล่าขานปากต่อปาก จนรู้ถึงพญากือนา จึงได้ให้องค์รักษ์มาดู เป็นจริงดั่งคำเล่า พญากือนาจึงได้เสด็จมายังวัดแห่งนี้ และได้ทำการบูรณะ สร้างโบสถ์ครอบพระประธาน

 

ซึ่งพระประทานที่นี่ เล่าขานกันต่อๆมาว่า ในอดีตเคยถุกประดิษฐานบนหินศิลาก้อนใหญ่ แต่เพราะหินตะแคงลง พระพุทธรูปจึงตกลงมายังด้านล่าง โดยหันหน้าเข้าหาหินศิลาก้อนนี้

 

นี่จึงเป็นที่มาให้พญากือนา สร้างโบสถ์ครอบพระพุทธรูปองค์นี้ ใกล้กับพระประทาน จะเป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้ มีความงดงามเป็นอย่างมาก พญากือนาได้เดินทางมาบูรณะวัดแห่งนี้ หลังจากนั้น 6 ปีให้หลัง ถึงได้เดินทางเพื่อนำพระธาตุไปไว้ยังดอยสุเทพ
แต่หนึ่งในอันซีนที่เราจะพูดถึง นั่นก็คือ พระบิ่นหลังต๋ำ(เป็นภาษาเหนือ) แปลเป็นไทย ก็คือ พระนั่งหันหลัง หากเราเข้ายังประตูด้านหน้า จะเห็นพระประทานนั่งหันหลังให้
เป็นที่แปลกตาที่เราไม่เคยพบเห็นได้ที่ไหน เราจึงยกให้ที่นี่เป็นหนึ่งในอันซีนของเชียงใหม่ ด้านในโบสถ์เราจะพบกับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้า ซึ่งถูกจารึกลงไปในเนื้อหิน
ด้านข้างจะมีตู้เก็บของเก่าโบราณ ที่ขุดค้นพบบริเวณภายในวัดแห่งนี้
มีทั้งพระพุทธรูปและหมวกโบราณ

และอีกหนึ่งไฮไลท์นั่นก็คือ รั้วเหล็กซึ่งในอดีตเคยถูกล้อมหินศิลามาก่อน ตัวอักษรถูกจารึกเป็นอักษรล้านนาโบราณ หนึ่งในนั้นมีชื่อของผู้สร้าง คือพญากือนา

ปัจจุบันรั้วเหล็กได้มีการชำรุดทรุดโทรมลงไปมาก ประกอบกับหายไปจำนวนหนึ่ง ทางวัดจึงได้รื้อถอนออก

จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า ในอดีตใต้หินศิลาก้อนนี้ เคยเป็นถ้ำมาก่อน ในสมัยก่อนที่หินยังไม่ได้มีความลาดเอียงขนาดนี้ มีรูซึ่งสามารถหยอดเหรียญลงไปได้ โดยเสียงของเหรียญตกกระทบชนกับหิน ดังก้องลึกลงไปเรื่อยๆ ไม่มีจุดสิ้นสุด

เล่ากันต่อมาว่า ในอดีตคนในหมู่บ้าน เคยเข้าออกยังบริเวณปากทางเข้าถ้ำได้ โดยในถ้ำได้มีข้าวของเครื่องใช้ของคนโบราณ ชาวบ้านมีงานก็จะมาหยิบยืม ต่อมามีบ้างที่ยืมไปแล้วไม่นำเอามาคืน ถ้ำแห่งนี้จึงค่อยๆปิดลงเรื่อยๆ จนสุดท้ายเล็กขนาดรูเท่าสัตว์ตัวเล็กๆรอดเข้าไปได้เท่านั้น

ว่ากันว่าปากทางเข้าถ้ำจะมีต้นไม้อยู่ 3 ต้น แต่ปัจจุบันถูกตัดออกหมด เลยไม่มีใครรู้ว่าปากทางเข้าถ้ำที่แท้จริงอยู่จุดไหน

เที่ยววัดตามรอยประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ นอกจากจะได้ความรู้แล้ว ยังได้เห็นแรงศรัทธาของคนในอดีตที่มีต่อศาสนาอย่างแรงกล้า….มาเยือน ม.แม่โจ้ อย่าลืมแวะมาสักการะพระบิ๋นหลังต๋ำกันนะคะ

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น