เที่ยวดอยดำ ชิมปลาเทราต์ ลิ้มลองคาเวียร์ดำหนึ่งเดียวในไทย

“สัมผัสดอยดำ 0 องศา  ทานปลาเรนโบว์เทราต์  ชื่นชมวิถีชนเผ่า ท่องเที่ยวป่าเขาลำเนาไพร ลิ้มลองคาเวียร์ สัญชาติไทยเพียงแห่งเดียว” คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริงไปนัก หลังจากที่ได้มาสัมผัสกับที่นี่ “โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยดำ” ด้วยอากาศที่หนาวเย็นในยามค่ำคืน แหงนมองท้องฟ้าเหล่ามวลหมู่ดาวแข่งกันเปล่งประกายระยิบระยับดุจอัญมณีประดับราตรี  ไอหมอกจางๆในยามฟ้าสาง ทำให้นึกถึงปรัชญาความเรียบง่ายของชีวิต ชี้ชวนกันมาสัมผัสกับวิถีดอยดำแล้วจะประทับใจมิรู้ลืม

โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริดอยดำ อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ หากเดินทางจากเชียงใหม่ จะใช้เวลาเดินทางประมาณ 4 ชั่วโมง ระยะทางประมาณ 182 กิโลเมตร(จากปากทางขึ้นดอยดำ 25 กิโลเมตร) ในอดีตดอยดำเป็นตำนานที่เหล่าผู้กล้าแห่งออฟโรดทุกคนต้องมาพิชิตให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ด้วยเส้นทางที่เป็นถนนลูกรัง ลัดเลาะไปตามไหล่เขาอันสูงชัน จึงทำให้ที่นี่ในขณะนี้ยังคงต้องอาศัยรถโฟร์วีลหรือรถกระบะยกสูงเท่านั้น ถึงจะสามารถมาเยือนยังที่นี่ได้

แต่ปัจจุบันถนนได้รับการปรับปรุงเป็นถนนคอนกรีตในบางช่วง ถือได้ว่าสะดวกสบายกว่าในอดีตมาก ตลอดสองข้างทางจะพบกับต้นไม้ใหญ่ เสียงนกร้องขับขานขับกล่อมให้ป่าแลดูมีมนต์ขลัง และหากมองให้ดีจะพบกับรอยเท้าของกวางป่า สะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์ แทบไม่น่าเชื่อเลยว่าในอดีตที่นี่จะเป็นป่าหัวโล้น แห้งแล้ง แต่ด้วยพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงห่วงใยราษฎร จึงได้จัดตั้งโครงการ “บ้านเล็กในป่าใหญ่” ขึ้นโดยฟื้นฟูป่าต้นน้ำ และพัฒนาคุณภาพชีวิต นี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการเพาะพันธุ์ปลาสเตอร์เจี้ยนและเรนโบว์เทราต์ ซึ่งเป็นที่มาของไข่ปลาคาเวียร์ดำ ที่มีมูลค่ามากกว่า 50,000 บาท/กิโลกรัม

การเดินทางมาเยือนยังดอยดำ ถึงแม้นต้องผ่านการเดินทางที่ถือได้ว่าสมบุกสมบันมาไม่น้อยแต่เมื่อมาถึงแล้วก็ไม่ทำให้ผิดหวังเลย ก้าวเท้าแรกที่ได้สัมผัสกับที่นี่ ลมหนาวก็มาเยือนซึ่งแตกต่างจากอากาศในเมืองที่ร้อนอบอ้าว เราเดินชมแปลงเพาะปลูกพืชผักตั้งแต่ ผักคะน้า ผักกาดหอม กะหล่ำปลีหัวใจ คื่นฉ่าย สะระแหน่ ที่ปลูกแบบปลอดสารพิษ สามารถเด็ดชิมแบบสดๆ รสชาติกรอบอร่อย และยังได้ชมบ่อปลาเรนโบว์เทราต์ ซึ่งเป็นปลาในตระกูลเดียวกันกับปลาแซลมอน เป็นปลาที่มีกรดไขมันโอเมก้า 3 มีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัว มีประโยชน์ต่อร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ที่รักสุขภาพทานแล้วไม่อ้วน

การนำปลาเรนโบว์เทราต์มาประกอบอาหาร สำหรับใครที่เคยไปทานอาหารที่โครงการหลวงดอยอินทนนท์อาจจะเคยชิมเมนูนี้ “ปลาเทราต์รมควัน” แต่การมาที่นี่ก็ทำให้เราได้รู้ว่า การนำปลาเรนโบว์เทราต์มาประกอบอาหาร มีได้หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ปลาเทราต์ห่อใบตองย่าง(ได้กลิ่นหอมใบตองอ่อนๆจากตัวปลา เมนูเด็ดนี้ขอยกนิ้วให้ อร่อยมากๆ)  ปลาเทราต์นึ่งซีอิ๊ว หรือจะเป็นเมนูพิเศษที่เราคิดคิดค้นขึ้น “ซาซิมิปลาเทราต์” จิ้มกับวาซาบิ หรือน้ำจิ้มสามรสก็ให้รสชาติดีไม่น้อย เนื้อปลามีความหวาน สด ไม่มีกลิ่นคาวเลยแม้แต่น้อย นอกจากนี้ไข่ปลาเทราต์เอง ยังสามารถนำมาทำคาเวียร์ได้อีกด้วยนะ ลักษณะไข่จะเป็นสีส้ม แต่ราคาอาจจะถูกกว่า “คาเวียร์ดำ” สนนราคา 100 กรัม 600 บาท หากนักท่องเที่ยวที่มาเยือนยังดอยดำ อยากที่จะนำปลาเทราต์สดกลับสามารถซื้อได้ในราคากิโลกรัมละ 350 บาท

ถัดจากบ่อปลาเรนโบว์เทราต์ก็มาถึงบ่อของปลาสเตอร์เจียน ปลาที่มีลักษณะคล้ายกับปลาฉลามผสมปลาซัคเกอร์(ในความคิดของผู้เขียน) ปลาสเตอร์เจียนเป็นปลาขนาดใหญ่ที่มีอายุยืนพอๆกับมนุษย์ โดยอายุสูงสุดมากได้ถึง 70 ปี ขนาดใหญ่สุดที่มีการค้นพบตามธรรมชาติ ขนาดใกล้เคียงกับปลาบึกในลุ่มแม่น้ำโขง อายุที่เหมาะกับการนำมาบริโภคคือ 4 ปีแต่บ่อที่เราได้มาเยี่ยมชม มีอายุมากถึง 8 ปี การนำปลามาทำคาเวียร์ มีขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่หากอยากชิมไข่คาเวียร์ดำที่สดและอร่อย ต้องสั่งล่วงหน้าเพราะที่นี่เค้าจะทำตามออเดอร์เท่านั้น สนนราคากระปุก 100 กรัม 5,000 บาท กระปุกเล็ก 25 กรัม 1,300 บาท โดยนิยมทานคาเวียร์เคียงกับขนมปังเครกเกอร์ ส่วนปลาสด กิโลกรัมละ 500 บาท(ตัวหนึ่งน้ำหนักจะอยู่ที่ประมาณ 4-8 กิโล)

การเลี้ยงปลาทั้งสองสายพันธุ์ ต้องเลี้ยงในอุณหภูมิน้ำตั้งแต่ 10 องศา แต่ไม่เกิน 20 องศา น้ำในบ่อปลาจะเป็นลักษณะน้ำไหลผ่านแบบน้ำตก

อิ่มจากเรื่องราวปลาๆแล้ว เรายังสามารถเดินชมวิถีชุมชนของดอยดำ โดยที่นี่มีหลายชนเผ่าที่อยู่อาศัยร่วมกันไม่ว่าจะเป็น เผ่าลีซอ เผ่ามูเซอ เผ่าอาข่า จากจุดที่ชาวบ้านอาศัยอยู่ถัดออกไปอีกประมาณ 6 กิโลเมตร ก็จะเป็นเขตของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่า

ในอนาคตเร็วๆนี้ดอยดำจะเปิดพื้นที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจที่อยากที่จะมาสัมผัสกับธรรมชาติ อากาศบริสุทธิ์ ชิมปลาเรนโบว์เทราต์ และคาเวียร์ดำ รสชาติแสนอร่อย แต่หากอดใจไม่ไหวอยากที่จะมาสัมผัสกับดอยดำก่อนแล้วหล่ะก็สามารถมาเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับได้คะ

ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่: เพจโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ ดอยดำ https://bit.ly/3ejHxLh

ขอบคุณ โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ ตามพระราชดำริดอยดำ คุณเกรียงไกร ไชยพิเศษ(หัวหน้าโครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ฯ ดอยดำ) , คุณธงชัย พุ่มพวง(ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บ้านเมือง) , คุณชัยอนันต์ ปันชู(กล้าลองกล้าลุย) พี่ๆผู้ร่วมทริปทุกท่านคะ

ภาพ/บทความ ปาณิสรา นฤประชา , ขอบคุณภาพจาก คุณชัยอนันต์ ปันชู

2 thoughts on “เที่ยวดอยดำ ชิมปลาเทราต์ ลิ้มลองคาเวียร์ดำหนึ่งเดียวในไทย

  • กุมภาพันธ์ 17, 2019 at 1:44 am
    Permalink

    ขอทราบรายละเอียด การขอเข้าดู การเลี้ยงปลาสเตอร์เจียน
    ขอบคุณครับ

  • กุมภาพันธ์ 25, 2019 at 1:36 pm
    Permalink

    ติดต่อสอบถามได้จากเบอร์โทรในรีวิวด้านล่างเลยค่ะ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น