ท่องเที่ยววิถีชุมชน อาบน้ำแร่แช่ออนเซ็น @ดอยสะเก็ด

แอ่วดีReview ได้มีโอกาสตามทริปไปกับ โครงการ “การพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านน้ำพุร้อนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยว” คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อการวิเคราะห์ปรับปรุง บูรณาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านน้ำพุร้อนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เป็นหมู่บ้านน้ำพุร้อนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยว ทริปนี้มีทั้งความสนุก ได้ความรู้ และทำให้เกิดความรักและหวงแหนแผ่นดินเกิด ซึ่งมีดีไม่แพ้ใคร ไปเที่ยวกันไหม!! เที่ยวเมืองไทยไม่ไป ไม่รู้(นะ)

อากาศยามเช้าที่เย็นสบาย เริ่มต้นการเดินทางไปยัง “พิพิธภัณฑ์มีชีวิต ศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2525 ซึ่งพระองค์มีพระราชประสงค์ให้ที่นี่เป็นศูนย์กลางของการศึกษา ทดลอง ผลิตผล เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ราษฎร สามารถนำไปปฎิบัติได้ด้วยตัวเองต่อไป

โดยมี พระราชดำรัสเกี่ยวกับป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ได้พระราชทาน ณ โรงแรมริมคำ จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2523   “…การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้สามอย่าง แต่มีประโยชน์สี่อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำและปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียวประโยชน์ที่สี่คือ ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ…”

ซึ่งนอกจากนี้ภายในโครงการยังมีการศึกษาด้านการประมงตามอ่างเก็บน้ำต่างๆ ผสมกับการศึกษาด้านการเกษตรกรรม ด้านปศุสัตว์และโคนม ด้านการเกษตร และอุตสาหกรรมอีกด้วย เรียกได้ว่า การเดินทางมายังที่นี่ ได้ความรู้ดีๆมากมายที่สามารถนำไปต่อยอดเพื่อเป็นอาชีพได้ในอนาคตและยังได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันกว้างไกลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทรงเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตาที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา

จากนั้นเดินทางต่อไปยัง “เชียงใหม่ ศิลาดล” บ้านดวงดี อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเข้าชมศิลปะบำบัดผ่านงานหัตถกรรม  เครื่องปั้นดินเผาเคลือบเซลาดอน (Celadon) คำว่า “Celadon” เป็นชื่อภาษาฝรั่งเศส เดิมใช้เรียกทับศัพท์ คนไทยเรียกว่า “เครื่องสังคโลก” เมื่อมีบริษัททำเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก เคลือบเซลาดอน จึงเกิดขึ้นและได้ชื่อว่า “ศิลาดล เชียงใหม่”

และอีกหนึ่งที่เรียกได้ว่าขึ้นชื่อนั่นก็คือ “ข้าวต้มมัด” ที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องความอร่อยที่ไม่เป็นสองรองใคร ซึ่งเจ้าของโรงงานเชียงใหม่ศิลาดล คุณทัศนีย์ ยะจา ลงมือทำเองทุกขั้นตอน โดยใช้วัตถุดิบอย่างดีมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงู หัวกะทิ กล้วยน้ำว้าสุกกำลังดีและน้ำตาลที่ได้สัดส่วนแต่พอเหมาะ ถั่วแดงจากโครงการหลวง งาขี้ม้อน และใช้ใบตองอ่อนของกล้วยน้ำว้าในการห่อเท่านั้น

ชมศิลปะอันงดงาม ปราณีต อ่อนช้อย ของผลิตภัณฑ์เครื่องเคลือบศิลาดลเชียงใหม่แล้ว ก็ถึงเวลาต้องอำลาเดินทางต่อไปยัง “น้ำพุร้อนโป่งสามัคคี หรือ น้ำพุร้อนดอยสะเก็ด” ได้มีโอกาสฟังเรื่องราวของน้ำพุร้อนและแนวทางการบริหารการจัดการภายในชุมชน พร้อมทำกิจกรรมดีๆ อย่างเช่น การทำข้าวหลามหลากรส ของดีจากบ้านโป่งสามัคคี พร้อมร่วมทำกิจกรรม การทำครีมขัดผิวจากผลิตภัณฑ์ชุมชน  นอกจากนี้ยังได้ผ่อนคลายกับการนวดเพื่อสุขภาพ และยังได้มีโอกาสแช่น้ำพุร้อน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจมิรู้ลืม

ผ่อนคลายจากการแช่น้ำร้อน ก็ได้เข้าพักยังเฮือนแม่ธัญญา ซึ่งเป็นความประทับใจอีกเช่นกันกับที่พักโฮมสเตย์ดีๆภายในชุมชน อากาศยามค่ำคืนที่แสนเย็นสบาย  ก่อนนอนออกมาเดินชมดาวที่เต็มท้องฟ้า พาดผ่านทุ่งนาเหลืองอร่ามสีทองที่รอการเก็บเกี่ยว และอีกหนึ่งกิจกรรมของที่พักที่น่ารักๆไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะนั่นก็คือ การแต่งกายไทลื้อ โพกผม เพื่อถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกให้ประทับใจและอยากที่จะกลับมาที่นี่อีกครั้ง

ในยามเช้าปั่นจักรยานเพื่อชมหมู่บ้านและใส่บาตรข้าวหลาม ณ วัดบ้านโป่งสามัคคี ไหว้พระโบราณขอพรสิ่งศักดิ์คู่วัดดอยสะเก็ด

อิ่มกายอิ่มใจกับบรรยากาศความงดงามภายในชุมชนและการทำบุญ กราบพระขอพรแล้ว ก็ถึงเวลาเดินทางต่อไปยัง “SMART FARM” เพื่อเรียนรู้การปลูกพืชและการทำเกษตรรูปแบบใหม่ ชิมเมลอน มะเดื่อฝรั่ง(FIG) น้ำเพื่อสุขภาพ กาแฟถั่งเช่า สนุกสนานกับการเป็นชาวสวน พร้อมรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ สดๆจากฟาร์ม..เรียกได้ว่าการเดินทางในครั้งนี้ ได้ทั้งความรู้ สนุกและประทับใจ ขอขอบคุณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับทริปกิจกรรมดีๆในครั้งนี้ค่ะ

ภาพ/เจน รีวิวโดย..ปาณิสรา นฤประชา

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น