ไปแคมป์ปิ้ง ณ เชียงดาว(กันไหม!!)
แอ่วดีReview ได้มีโอกาสตามทริปไปกับ โครงการ “การพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านน้ำพุร้อนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยว” คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งได้จัดกิจกรรมนี้ขึ้นเพื่อการวิเคราะห์ปรับปรุง บูรณาการ เสริมสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศ ภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพหมู่บ้านน้ำพุร้อนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักเพื่อพัฒนาศักยภาพชุมชนให้เป็นหมู่บ้านน้ำพุร้อนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยว ณ บ้านยางปู่โต๊ะ ตำบลเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
“เชียงดาว” เมืองเก่าแก่ที่มีตำนานเล่าขานมากมายถูกจารึกไว้ในพงศาวดารโยนก กล่าวไว้ว่าเมื่อ 600 ปีก่อน พระยาเม็งรายแห่งอาณาจักรล้านนา ได้ยกเมืองแห่งนี้ให้กับ เจ้าไชยสงคราม ราชโอรสองค์ที่ 2 เป็นบำเหน็จความชอบในการศึกสงคราม จนเมื่อถึงยุคของพระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์พม่า ได้ยกกองทัพเข้ามาตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2101 โดยมีกองกำลังพลมากถึง 90,000 คน และแบ่งกำลังออกเป็น 3 กองทัพ ตีโอบล้อมเมืองเชียงใหม่ ได้แก่ เมืองปาย เมืองแหง และเมืองเชียงดาว
ต่อมาเมืองเชียงดาวก็ได้ถูกจารึกเรื่องราวในพงศาวดารโยนกอีกครั้ง เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ทรงตั้งกองทัพที่เมืองงาย อำเภอเชียงดาว ก่อนที่จะเข้าตีเมืองอังวะ…กาลเวลาหมุนเปลี่ยนไปจนถึงยุคสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว ก็ได้มีการปฎิรูปการปกครองหัวเมืองขึ้นใหม่ โดยเปลี่ยนมาเป็นการปกครองแบบจังหวัด อำเภอ โดยนายอำเภอคนแรกของเมืองเชียงดาว ก็คือ “เจ้าราชบุตร ณ เชียงใหม่” (บุตรคนโตของเจ้าเมืองเชียงดาวองค์ก่อน) เมื่อปี พ.ศ. 2452
นอกจากนี้ตำนานเล่าขานของ “ถ้ำเชียงดาว กับ ดอยหลวงเชียงดาว” นั้นก็ยิ่งเพิ่มมนต์ขลังให้เมืองแห่งนี้ดูลึกลับน่าค้นหา และน่ามาเยี่ยมเยือนให้ได้สักครั้ง….เกริ่นมายาวพอสมควร ก็ได้เวลาออกเดินทางไปท่องเที่ยวยังเมือง “เชียงดาว” กัน
เริ่มต้นการเดินทางโดยใช้เส้นทาง เชียงใหม่ – แม่แตง สถานที่แรกที่เราแวะนั่นก็คือ “วัดเด่นสะหรีศรีเมืองแกน” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันสั้นๆว่า “วัดบ้านเด่น” วัดที่มีศิลปะแบบล้านนาที่มีความสวยงามวิจิตรบรรจงและสร้างได้ยิ่งใหญ่อลังการ โดยซุ้มบันไดเป็นนกหัสดีลิงค์(เรื่องราวบางส่วนมาจากนิทานชาดก และ ตำราสัตว์ป่าหิมพานต์) คือมีหัวเป็นช้างตัวเป็นนก ผิดกับวัดอื่นที่มีบันไดเป็นพญานาค การเดินเยี่ยมชมให้รอบวัดค่อนข้างใช้เวลาพอสมควร จึงควรจัดสรรเวลาในการเดินชมค่ะ
อิ่มเอมใจจากการชมความงามและกราบพระขอพรแล้วก็ได้เวลาออกเดินทางต่อไปยัง “ถ้ำเชียงดาว” ถ้ำที่มีตำนานเล่าขานกันมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นตำนานวัดเจดีย์หลวงที่ว่ากันว่า ใต้ฐานเจดีย์สามารถเดินทะลุไปยังถ้ำเชียงดาวได้(เป็นเพียงเรื่องเล่าปรัมปราเท่านั้น) หรือจะเป็นตำนานรักของเจ้าหลวงคำแดง กับนางอินเหลา ผู้ที่อยู่อาศัยภายในถ้ำเชียงดาว หากออกจากถ้ำนางจะกลายร่างเป็นกวาง ฉะนั้นเมื่อเจ้าหลวงคำแดงได้พบกับนางอินเหลา จึงได้ละทิ้งกองทัพแล้วอยู่อาศัยภายในถ้ำโดยไม่กลับออกมายังโลกภายนอกอีกเลย
หรืออีกตำนานหนึ่งกล่าวว่า เจ้าหลวงคำแดงก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งขุนเขา เป็นเจ้าแห่งผีทั้งหลาย เป็นที่เคารพสักการะ ของชาวเหนือ อย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง และถ้ำเชียงดาวซึ่งเชื่อกันว่า เป็นเมืองแห่งเทวาของเจ้าหลวงคำแดง ตั้งอยู่ด้านหน้าของดอยหลวงเชียงดาว เป็นขุนเขาที่ชาวเชียงใหม่ให้ความนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์ เชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของผีเมืองเชียงใหม่ทุกองค์ ตั้งแต่ก่อนพญามังรายสร้างเมืองเชียงใหม่ ผีเมืองเชียงใหม่จึงมีเจ้าหลวงคำแดงเป็นประธานใหญ่กว่าผีทั้งหมด
และยังมีเรื่องเล่ากันว่าในทุกวันพระ บรรดาผีในเมืองเชียงใหม่จะต้องไปร่วมเฝ้าและประชุมที่ดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งในถ้ำเชียงดาวจะมีห้องโถงขนาดใหญ่ที่เชื่อกันว่าเป็นห้องประชุม ในวันนั้นผีจะไม่มาหลอกหลอนชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ผีเมืองที่ดอยหลวงเชียงดาวได้เก็บข้าวจากชาวนาทุกคนที่วางไว้เซ่นไหว้พระแม่โพสพและเป็นค่าน้ำหัวนา ซึ่งจะนำข้าวไปวางไว้ที่หัวนาก่อนที่ชาวนาจะนำข้าวมาใส่ในยุ้งฉาง ข้าวเหล่านี้ผีดอยจะนำมากิน แล้วจะเหลือเพียงเปลือกหรือแกลบไว้ซึ่งจะเก็บเปลือกข้าวหรือแกลบไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งทางทิศใต้ไม่ไกลจากดอยหลวงเชียงดาวชื่อว่า “ถ้ำแกลบ”
ความศักดิ์สิทธิ์ของดอยหลวงไม่ได้มีเพียงแต่ชาวบ้านที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน แต่พระสงฆ์ในเขตล้านนาก็ได้แต่งและคัดลอกคัมภีร์ใบลานชื่อ “ตำนานถ้ำเชียงดาว” ไว้หลายสำนวน ทั้งที่พบในเชียงใหม่และเมืองอื่นๆที่ห่างไกลออกไป เช่น ที่เมืองน่าน เป็นต้น
และยังมีอีกหนึ่งนิยายปรัมปราในยุคต้นพุทธกาล ซึ่งได้กล่าวถึง ท้าวอัมรินทราธิราช หรือพระอินทร์ มหาเทพผู้ดูแลทุกข์สุขของมวลมนุษย์ได้สั่งให้จัดทำสิ่งวิเศษเพื่อองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า พระศรีอาริยะเมตตรัย ที่จะมาตรัสรู้ในอนาคต และได้เล็งเห็นว่าถ้ำเชียงดาวเป็นสถานที่เหมาะสมแก่การเก็บรักษาของวิเศษเหล่านั้น เพราะลึกเข้าไปในถ้ำจนหาที่สุดประมาณมิได้ เป็นเมืองของพวกครึ่งอสูรกาย เรียกว่าเมืองลับแล มีความเป็นอยู่ล้วนแต่เป็นทิพย์ ผู้คนในโลกมนุษย์ธรรมดาที่เต็มไปด้วยกิเลสยากนักที่จะมีโอกาสได้เข้าไปพบเห็น เพราะมีด่านภยันตรายต่างๆมากมายหลายชั้นกั้นขวางไว้
การเข้าชมยังถ้ำเชียงดาว ควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่ใส่สบายรัดกุมและควรใส่รองเท้าผ้าใบมาจะเหมาะแก่การเดิน ที่ต้องลอด คลานในถ้ำที่คับแคบในบางช่วง การเดินถ้ำอาจไม่เหมาะกับเด็กเล็กและผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัว อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดัน เนื่องจากระยะทางในการเดินค่อนข้างไกล เพราะถ้ำมีขนาดใหญ่และลึกพอสมควร ใช้เวลาในการเดินโดยรวมประมาณ 1-2 ชั่วโมง(แล้วแต่ระยะเวลาในการแวะชมแต่ละจุด)
จะเรียกว่าเดินออกกำลังกาย ก็ไม่ผิดนัก เพราะกว่าจะเดินครบภายในถ้ำก็ทำเอาเหงื่อซึมพอสมควร พาลทำท้องร้องครวญครางอยู่ไม่น้อย ที่เชียงดาว ก็มีร้านอาหารขึ้นชื่อ หลายแห่งค่ะ แต่ที่มาถึงแล้วต้องทานนั่นก็คือ “ขาหมู” ที่ตุ๋นจนเนื้อเปื่อยละลายในปาก ส่วนร้านก็ตั้งเรียงรายหลายร้านบริเวณสองข้างทางในตัวเมือง จะเลือกร้านไหนแวะชิมร้านไหนก็อร่อยแล้วแต่ใจชอบ และอีกสถานที่ที่อยากแนะนำ ร้านอาหารวิวสวย อาหารอร่อย นั่นก็คือ “สวนอาหารเสน่ห์ดอยหลวง” ที่สามารถเห็นวิวดอยหลวงแบบเต็มสองตาจากปากทางเข้าหน้าร้าน และจุดนี้เองสามารถถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึกได้อย่างสวยงามอีกด้วย ภาพร้านและอาหารอาจจะไม่มีประกอบนะคะ เนื่องจากว่าหิว(ฮ่าๆ)
อิ่มแบบแอบตาปรอย ก็เดินทางกันต่อไปยังจุดหมายปลายทางของเรา นั่นก็คือ “บ้านยางปู่โต๊ะ” เชื่อไหมว่า!! เชียงดาวเองก็มี “โป่งน้ำร้อน” ด้วยนะ..แถมน้ำก็ไม่ร้อนจนเกินไปด้วย อุ่นแบบพอดีๆ
เราเลือกที่จะเดินชมภายในบริเวณหมู่บ้าน บ้านยางปู่โต๊ะ เป็นหมู่บ้านของชนเผ่ากระเหรี่ยง ซึ่งมีไม่กี่หลังคาเรือน คนในชุมชนมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเงียบสงบ แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นหมู่บ้านเล็กๆ แต่ก็เป็นหมู่บ้านที่มีวิวสวยที่สุดเท่าที่เราเคยเดินทางไปเยือนมา ฉากด้านหน้าหมู่บ้านจะเป็น “ดอยหลวงเชียงดาว” และเมื่อเดินขึ้นไปยังเนินเขาของหมู่บ้านจะสามารถมองเห็นวิวภูเขาโอบล้อม ในยามเช้ายังสามารถมองเห็นทะเลหมอกไกลๆได้อย่างสวยงาม
ใช้เวลาในการเดินสำรวจหมู่บ้านได้ไม่นาน แต่ก็ทำเราประทับใจ ที่นี่ เราสามารถพบเห็นลูกควายเกิดใหม่ ที่มีขนฟูสีขาว เรียกได้ว่าเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ ที่มีโอกาสได้เห็น
จะสังเกตเห็นว่าคนในชุมชน สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร ได้อย่างกลมกลืน โดยไม่ได้มีการรุกล้ำป่าแต่อย่างใด เพื่อป้องกันไฟป่า ชุมชนก็จะมีการสร้างแนวป้องกันไฟป่า โดยเราก็ได้เดินสำรวจผจญภัย ตื่นเต้นไม่น้อยที่ได้เห็น ต้นไม้ ดอกไม้ เห็ด ที่แปลกตาไปจากที่เคยเห็น กฎของการเดินป่าก็คือ เก็บไว้เพียงแต่ภาพความประทับใจ โดยไม่เก็บอะไรกลับไป และไม่ทิ้งอะไร(ขยะ) ไว้นะคะ
เดินพอให้ร่างกายได้เหงื่อ ก็ถึงเวลาที่เรารอคอย นั่นก็คือ การแช่เท้าในโป่งน้ำร้อนอุ่นๆ ที่นี่มีบ่อแบบส่วนตัว ซึ่งสามารถแช่ตัวหรือจะนั่งแช่เท้าก็ได้ มีด้วยกัน 2 บ่อ โดยคิดค่าบริการ ชั่วโมงละ 50 บาท/คน และที่นี่ยังมีบริการนวดเพื่อสุขภาพอีกด้วยนะ ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์โทร 081-1112058 , 085-6274108
และห่างกันไม่ไกลนัก จะมีบ่อปูนซีเมนต์ขนาดเล็กของอุทยาน ที่มีไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวไว้แช่เท้า แช่ตัวแบบฟรีๆค่ะ แต่อาจจำกัดเรื่องจำนวนคนในการนั่งแช่ค่ะ
แช่เท้าผ่อนคลาย แบบให้ตัวเบาสบาย หายเหนื่อยจากเดินกระหน่ำเดินมาทั้งวัน ก็ไปชมที่พักกันค่ะ คืนนี้เราจะนอนแคมป์ปิ้งกลางเต๊นท์ ชมดาวเดือนหน้าดอยหลวงกัน เปิดเพลงเพราะๆเบาๆ ปิ้งย่างบาร์บีคิว เป็นอะไรที่เราใฝ่ฝันมานานแสนนาน
เรียกได้ว่า…ดาวเต็มฟ้า กับ อากาศหนาวๆ มันช่างเข้ากันนะว่าไม๊!! ตื่นเช้าๆ นั่งจิบกาแฟ มองดูทะเลหมอก ฟินกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว
เก็บภาพความประทับใจทั้งในภาพถ่ายและในใจ ก็ได้เวลาไปเดินชมสวนองุ่น ณ สวนอาทิตย์ ที่อยู่ไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านนัก ที่นี่เค้าปลูกองุ่น อะโวคาโด เสาวรส ส่งโครงการหลวง หากเรามาในช่วงเวลาที่พอเหมาะ ประมาณเดือน ธันวาคม ของทุกปี ก็จะสามารถเก็บองุ่นสดๆกลับบ้านได้ ในราคากิโลกรัมละ 200 บาท
จากสวนองุ่น ก็ได้เวลาเก็บกระเป๋ากลับบ้าน ระหว่างทางแวะพักจิบกาแฟ ณ ร้านกาแฟฮกหลง ที่นี่เค้าจะมีศิลปะในการชงชาที่ละเมียดละไม ใส่ใจในทุกแก้วที่ชง ทำเราประทับใจไม่น้อยกับกาแฟรสชาติดีของร้านแห่งนี้ค่ะ
และร้านกาแฟระหว่างเส้นทางกลับอีกหนึ่งร้านที่อยากแนะนำ ที่มีวิวสวยติดแม่น้ำ นั่นก็คือร้าน กาแฟฮิมน้ำ
มาเที่ยวเชียงดาวกันไหม ดังคำกล่าวที่ว่า “เชียงดาวชายแดน ถ้ำสวยดอยสูง พระสถูปเมืองงาย กำเนิดสายแม่น้ำปิง” แล้วคุณจะหลงรักที่นี่เหมือนกับเรา
ขอขอบคุณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับทริปดีๆ มา ณ โอกาสนี้ค่ะ
ติดต่อสอบถามลานกางเต๊นท์และห้องพักบ้านยางปู่โต๊ะ อำเภอเชียงดาว 081-1112058,085-6274108
ติดต่อสอบถามสวนอาทิตย์ 097-0125848
พิกัด: บ้านยางปู่โต๊ะ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่(ใช้ทางหลวงเส้นทางที่ 107 จากห้าแยกบายพาสให้เลี้ยวซ้ายตามทางศูนย์วิจัยสัตว์ป่าเชียงดาว ขับเข้ามาประมาณ 3 กิโลเมตรจะถึงยังหมู่บ้าน)
รีวิว/ภาพ ปาณิสรา นฤประชา ขอบคุณข้อมูล “ตำนานถ้ำเชียงดาว” โดย ร้อยตะวัน