ท่องป่าอัมพวนาราม ตามรอยตนบุญแห่งล้านนา

ถ้าพูดถึง ”วัด” ภาพที่ติดอยู่ในความทรงจำวัยเด็กของเรานั่นก็คือ ต้องนั่งฟังเทศน์  แถมยังนั่งแอบหลับ(ได้อีก)เมื่อโตมาถึงได้รู้ว่าจริงๆแล้ว วัด คือโบราณสถานอย่างหนึ่งที่เราสามารถท่องเที่ยวและทำบุญไปพร้อมๆกันได้นะ  การท่องเที่ยวตามรอยประวัติศาสตร์ของเราจึงเริ่มขึ้น ณ วัดพระธาตุทุ่งตูม และ วัดพระบาทยั้งหวีด สองวัดนี้มีที่มาที่ไปไม่ธรรมดา เนื่องจากย้อนหลังไปถึงบรรพกาลสมัยพระพุทธเจ้า เดินทางมาแสวงธรรมยังดินแดนล้านนา เมืองเจลาภูมิ ( จังหวัดลำพูน ในปัจจุบัน) และเดินทางผ่านไปยังป่าอัมพวนาราม(ป่ามะม่วง) ซึ่งปัจจุบันคือวัดพระธาตุทุ่งตูม และ 2 วัดนี้เองยังเป็นวัดที่ตนบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัยได้มาบูรณะก่อนที่จะเดินทางไปบูรณะต่อยังพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่อีกด้วย

 

ถ้ามีใครถามว่าเราจะไปเที่ยวที่ไหน…เราจะตอบว่าไป “เที่ยวป่าอัมพวนาราม” (แลดูขลังไม่น้อยนะ) ที่สุดของความอยากไปของเรานั่นก็คือ วัดพระบาทยั้งหวีด ซึ่งมีถ้ำลึกอยู่ใต้โบสถ์ ว่ากันว่าเป็นถ้ำของพญานาคและยังมีรอยประทับพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้ง 2 รอย แต่ในตำนานกล่าวกันว่า มีมากถึง 4 รอย(พระพุทธเจ้า 4 องค์ในแต่ละภพชาติได้เสด็จมาประทับพระบาทยังป่าแห่งนี้)  แต่จะด้วยเหตุบังเอิญหรือไม่นั้น การที่เราได้มาเยือนยังวัดพระบาทยั้งหวีด ทำให้เราได้มีโอกาสมายังวัดพระธาตุทุ่งตูม ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากวัดพระบาทยั้งหวีดเท่าใดนัก แต่วัดทั้ง 2 แห่งนี้ก็มีจุดเชื่อมโยงถึงกัน เมื่อครั้งในอดีต เราจึงขอเอ่ยถึงวัด พระธาตุทุ่งตูมก่อน

ตามตำนานกล่าวว่า ในอดีต พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาแสวงธรรม ผ่านมายังป่าอัมพวนารามแล้ว ได้พบกับพญาวอก(ลิง)  3 ตัว ซึ่งอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้ โดยได้เก็บเอารังผึ้ง 7 รังมาไว้กิน แต่พญาวอกผู้น้องทราบมาว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังป่าแห่งนี้ จึงเกิดความปิติยินดียิ่ง จึงได้ไปขอรังผึ้งจากพญาวอกผู้เป็นพ่อ มาถวายแก่พระพุทธเจ้า พญาวอกผู้พี่ก็เห็นพ้องต้องกัน พญาวอกผู้เป็นพ่อ จึงได้นำรังผึ้งทั้ง 7 รังมาถวายแก่พระพุทธเจ้า และพระอรหันต์ทั้ง 500 รูปยังป่าแห่งนี้  พญาวอกผู้เป็นพ่อมีความปิติยินดี จึงวิ่งขึ้นไปบนต้นไม้หมายจะเด็ดเอาดอกไม้มาถวายแก่พระพุทธเจ้า แต่เกิดเหตุผลัดตกต้นไม้โดนตอไม้เสียบเข้าที่กระดูกซี่โครงจนตาย  เห็นดังนั้นพระพุทธเจ้าจึงรับดอกไม้จากมือพญาลิงวอกผู้เป็นพ่อ ก็สิ้นใจ

พระพุทธเจ้าได้กล่าวคำทำนายกับพระอานนท์ เกี่ยวกับพญาวอกทั้ง 3 ตัวนี้ว่า “พญาวอกผู้เป็นพ่อ จักได้ไปเกิดเป็นพระยาในเมืองหงสาวดี ประกอบด้วยสมบัติข้าวของเงินทองช้างม้า เป็นดั่งสมบัติแห่งเทวดาในชั้นฟ้าดาวดึงส์ จักได้ค้ำชูศาสนาให้รุ่งเรือง มันจักได้สร้างยังเจดีย์หลังหนึ่ง ในท่ามกลางเมืองอันนั้น เสมอดั่งพระธาตุเกตุแก้วจุฬามณีเจดีย์ ด้านทิศตะวันตกเจดีย์หลังนั้นมันจักสร้างปราสาทหลังหนึ่งมีพื้นได้ 7ชั้น เสมอดั่งปราสาทของพระอินทร์  ส่วนพญาวอกผู้พี่มันจักได้เป็นท้าวพระยา จักทำให้ศาสนาฉิบหายมากนัก แล้วตัวมันก็จักฉิบหายไปด้วย และพญาวอกผู้น้อง มันมีจิตจักถวายรังผึ้งแก่พระพุทธเจ้าก่อน มันจักได้เป็นท้าวพระยาในเมืองอันนี้ก่อนผู้พี่ ”

 

เมื่อสิ้นคำทำนาย พระพุทธเจ้าจึงได้เดินทางต่อไปยังเมืองเจลาภูมิ(จังหวัดลำพูน ในปัจจุบัน) พระพุทธเจ้าทำนายยังที่แห่งนั้นแล้ว จึงเดินทางกลับมาอีกครั้งยังป่าอัมพวนาราม เพื่อประทานพระเกศาธาตุและทำนายพยากรณ์ถึงการนำพระธาตุกระดูกซี่โครงเบื้องซ้ายของพระองค์ มาประดิษฐานที่นั้น  เมื่อพระพุทธเจ้าเดินทางมาถึงชายป่า ได้เห็นพญาวอกผู้น้อง นอนกลิ้งไปมาอยู่บนยอดหญ้าและต้นไม้ เพื่อไม่ให้มีน้ำค้างตกใส่จีวรของพระพุทธเจ้า พญานาคชื่อว่า “สัญไชย” ซึ่งได้อาศัยอยู่บริเวณป่าแห่งนี้ เห็นความพยายามอุตสาหะของพญาวอกผู้น้องที่มีต่อพระพุทธเจ้า จึงได้ถอดสร้อยสังวารของตนห้อยคอให้แก่พญาวอกผู้น้อง จากนั้นลั๊วะ 2 พี่น้องซึ่งได้ติดตามพระพุทธเจ้ามาจากเมืองสะเธิม(สุธรรมวดี(พม่า) เป็นศูนย์กลางเมืองของชาวมอญในอดีต สร้างก่อน พ.ศ 241) ได้ถวายข้าวบาตรแก่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ารับบิณฑบาตแล้วเดินทางไปถ่ายพระบังคม(เข้าห้องน้ำ)ที่ป่าไม้หวีด(บริเวณวัดพระบาทยั้งหวีด ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ห่างเท่าใดนักจากวัดพระธาตุทุ่งตูม) จากนั้นจึงกลับมาฉันท์อาหาร และ พญานาคสัญไชย ได้เอาจะงอยปากของตนมาจรดดินเกิดเป็นน้ำพุ่งออกมา ต่อมาที่แห่งนี้จึงถูกเรียกว่า “อัมพวานารามทุ่งตูม”

พญานาคให้น้ำพุออกมาเป็นทานแก่พระพุทธเจ้า พร้อมกล่าวคำปรารถนาว่า “ด้วยว่าเดชแห่งการที่ข้าพญานาคชื่อว่า สัญไชย ถวายทานน้ำอันนี้เป็นทานแก่พระพุทธเจ้า เมื่อใดที่ศาสนาเสื่อมถอย ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดมายังฤกษ์นั้น เพื่อได้ทำนุบำรุงศาสนาของพระพุทธเจ้าในอัมพวนารามแห่งนี้” พระพุทธเจ้าจึงได้อนุโมทนาขอให้คำปรารถนาของท่านสัมฤทธิ์ผลและได้ประทับรอยพระบาทมอบให้แก่พญานาค(ซึ่งรอยพระบาทแห่งนี้ ปรากฏอยู่ ณ วัดพระบาทยั้งหวีด)

 

ณ ที่แห่งนี้เทวดา 2 ตนที่ปกปักรักษายังป่าอัมพวนาราม  ซึ่งมีนามว่า อัชชะบาล กับ สุมนะ ได้บอกกล่าวถึงการมาของพระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 (พระพุทธเจ้ากกุสันโธ,พระพุทธเจ้าโกนคมน,พระพุทธเจ้ากสสโป,พระพุทธเจ้าสมณะโคดม) ที่ได้มาประทับยังป่าอัมพวนารามและได้ประทับรอยพระบาทไว้ยังที่แห่งนี้ จากนั้นพระพุทธเจ้าได้มอบพระเกศาธาตุให้แก่ ลั๊วะ 2 พี่น้อง โดยลั๊วะผู้น้อง ได้นำเกศาธาตุไว้ยังอัมพวนารามทุ่งตูม โดยนำเกศาธาตุไว้ในอุโมงค์ลึก 15 วา ซึ่งก่อปิดทับด้วย อิฐทองคำ อิฐเงิน อิฐแก้ว 7 ประการ ใช้ 84,000 ก้อน ส่วนลั๊วะผู้พี่ได้นำไปไว้ยังเมืองเจลาภูมิ(จังหวัดลำพูน สันนิษฐานว่าเป็นพระธาตุหริภุญไชย)

สาวกได้ถามพระพุทธเจ้าถึงการนำเกศาธาตุไว้ยังที่นี่ “อัมพวนารามทุ่งตูม” ซึ่งยังไม่มีเจดีย์ให้เกศาธาตุได้ประดิษฐาน พระพุทธเจ้าจึงได้ทำนายไว้ว่า “เมื่อเราปรินิพพานไปแล้วนั้น เมื่อปีพุทธศักราช 218 จะมีพญาตนหนึ่ง นามว่า อโศกธรรมราช เกิดมาปรากฏค้ำชูศาสนา ได้สร้างเจดีย์ 84,000 หลัง วิหาร 84,000 หลัง ในเจลาภูมิถูกสร้างขึ้นหนึ่งหลังในอัมพวนารามนี้จะถูกสร้างขึ้นหนึ่งหลัง จะปรากฏให้เห็นเมื่อนิพพานไปแล้วได้ 2,000 ปี”

อีกทั้งพระพุทธเจ้ายังได้ทำนายต่ออีกว่า “เมื่อใดพระพุทธเจ้านิพพานแล้วได้ 2125 ปี มังทราผู้เป็นพ่อจุติแล้ว(พญาวอกผู้พ่อ) ได้เกิดในอังวะ ในปีกล่าเร้า ศักราชได้ 85 ตัว ภายหลังถึงได้ราชสมบัติ ประกอบด้วยเดชานุภาพ ปราบแพ้ประเทศราชทั้งหลายมากนัก ลูกพญาวอกผู้พี่จะได้เป็นท้าวพระยาแทนพ่อ และจะได้ใช้ชื่อตามพ่อ เมื่อถึงเวลานั้น บ้านเมืองจะเกิดกลียุคในเมืองหงสาวดี จะรบราฆ่าฟันกัน  บ้านเมืองจะระส่ำระสาย เจดีย์วิหารพังเสียหายหนัก ถนนหนทางเข้าเมืองจะถูกตัดขาด ผู้คนหนีตายทิ้งบ้านทิ้งเมืองไปคนละทิศละทาง เหลืออยู่ 5 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านอังคะ หมู่บ้านชองคลา หมู่บ้านแม่จักครึด หมู่บ้านอปโค หมู่บ้านสรีทเต จะเป็นบ้านใหญ่ เป็นที่ทางพญาแล แม่น้ำสายเล็กจะกลับกลายเป็นแม่น้ำสายใหญ่  ในภายหน้า เมืองทั้งหลาย 4 เมือง(เมืองหงสาวดี เมืองตองอู เมืองอังวะ เมืองอโยธยา) นั้นก็จักฉิบหายเสียหมด เป็นดั่งไฟไหม้กัลป์ ท่าเรือทั้งหลาย 541 แห่งก็จักฉิบหายเสีย ระหว่างนี้คนทั้งหลายกลุ่มน้อย จะเกิดเป็นกลุ่มใหญ่ เมืองทั้ง 4 จะกลายเป็นดั่งเมืองร้าง เมื่อธรรมิราชตนนั้นกินเมืองได้ 17 ปี ยอดดอยสิงกุตระนั้นจะมีเจดีย์หลังหนึ่ง ภายล่างเจดีย์นั้น กระดูกคนตายกองกัน กองกระดูกสูงขึ้นสูงสุดเท่าปลายต้นตาล บ้านเมืองทั้งหลายจักฉิบหายทุกแห่ง คนทั้งหลายจะเอาของเป็นแก้วทั้ง 3 อันมีค่าไป คนทั้งหลายรบราฆ่าฟันกันอย่างหนัก”

** จากการค้นข้อมูล** เมื่อปี 2125 เจ้ามังทราแห่งหงสาวดี ตีเมืองเชียงใหม่ ทั้งเมืองเกิดไฟไหม้และถูกปล่อยทิ้งร้าง ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่ามาอย่างยาวนานถึง 40 ปี

พระพุทธเจ้าทำนายเพียงเท่านี้ แล้วอยู่ในป่าอัมพวนาราม 7 วัน จากนั้นก็เดินทางเพื่อเผยแพร่คำสอนต่อไปถึง 45 พรรษาก็นิพพานในเมืองกุสินารา ตำนานความเป็นมาอันยาวนานนี้ ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในภาษาอื่นซึ่งไม่ได้เป็นภาษาไทยมาแต่เดิม แต่ถูกนำมาแปลและเรียบเรียงขึ้นใหม่ เมื่อปีกล่าเหม้า จุลศักราชได้ 964 ตัว ปีพุทธศักราช 2145 เดือน 4 เหนือออก 4 ค่ำ เม็งวัน 4 ไทรวายสง้า ยามเที่ยงวัน ราชครูลวะนาง ได้นำตำนานเกศาธาตุจากเจ้าเมืองลังกา นำมาแปลเป็นตัวหนังสือเม็ง ภาษาเม็ง และนำมาแต่งแต้มเป็นคำอังวะ  จากนั้นจึงได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย อธิบายเป็นโวหารไทย เพื่อให้คนไทยได้รับรู้ถึงความเป็นมาในอดีต

 

การบูรณะวัดพระธาตุทุ่งตูมในครั้งต่อมา ในสมัยพระนางจามเทวี เล่าว่า พระนางได้ฝันเห็นช้างผู้ก่ำงาเขียวอันเชิญพระธาตุไว้บนหลัง แล้วนำขบวนเข้าไปประดิษฐานในป่าแห่งหนึ่ง โดยมีเทวดาและพญาวอกคอยเฝ้ารักษา เมื่อพบลานโล่งแจ้ง ท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ได้พบเจดีย์เก่าขนาดสูงสามวา ซึ่งเปล่งไปด้วยรัศมีขององค์พระธาตุ ก็เกิดความอัศจรรย์พระธาตุเจดีย์ทะลุเป็นอุโมงค์ลึกลงไป พญาช้างจึงหยุดเดิน แล้วเดินวน 3 รอบ พระนางจามเทวีจึงได้ตื่นขึ้น เมื่อคิดใคร่ครวญถึงความฝัน จึงได้ตั้งจิตอธิษฐาน แล้วเสี่ยงยิงธนูออกไป ลูกธนูได้ไปตกลงยังป่าอัมพวนาราม

เมื่อพระนางเดินทางมายังจุดที่ลูกธนูได้ตกลงนั้นก็ ได้พบกับชนเผ่าลั๊วะ ซึ่งได้อาศัยอยู่ที่ป่าแห่งนี้ (จะเป็นลูกหลานเชื้อสายของลั๊วะ 2 คนที่ได้เกศาธาตุจากพระพุทธเจ้าหรือไม่) และได้พบว่าสถานที่แห่งนี้ได้มีเกศาธาตุและกระดูกซี่โครงเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้าอยู่ เกิดความเลื่อมใส จึงได้ทำการบูรณะพระธาตุขึ้นใหม่และได้มอบหมายให้ชนเผ่าลั๊วะที่อาศัยอยู่ยังที่แห่งนี้ ซึ่งมีมากถึง 300 ครัวเรือน เป็นผู้ดูแลรักษาพระธาตุจากนั้นจึงทำการเฉลิมฉลองครั้งใหญ่ เป็นเวลา 7 วัน 7 คืน แล้วได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรกับองค์พระธาตุ ให้ข้าราษฎร์ทั้งหลาย อยู่อย่างเป็นสุข จากนั้นบังเกิดปาฎิหาริย์แผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น รอยพระพุทธบาททั้ง 4 รอยที่พระพุทธเจ้าได้ประทับไว้ทั้ง4 องค์ ลอยผุดขึ้นมาจากดิน ให้พระนางได้กราบไหว้ จากนั้นจึงเลือนหายไปในแผ่นดินดังเดิม หลังจากนั้นพระนางจึงได้ถวายกลองใบหนึ่งไว้กับพระธาตุ ขนาดเท่า 3 คนโอบ ยาว 15 วา ไว้ตีสักการะบูชาพระธาตุในวันพระเดือนมืดเดือนเพ็ญ

จากนั้นกาลเวลาผันเปลี่ยนมาจนถึง ปีพ.ศ. 2446 เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ องค์ที่ 8 ก็ได้ทำการบูรณะปฎิสังขรณ์พระธาตุขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยได้ทำการยกฉัตรพระเจดีย์รวมถึงจัดงานปอยหลวงขึ้นอย่างยิ่งใหญ่  เป็นหลักฐานยืนยันถึงความสำคัญของวัดพระธาตุทุ่งตูมในอดีต

ต่อมาในปี 2470 ตนบุญแห่งล้านนา ครูบาศรีวิชัยก็ได้ทำการบูรณะวัดนี้ขึ้นอีกครั้ง  โดยมีศรัทธาคือ เจ๊กต้น เจ๊กอุย ปู่กิม ได้ถวายเหล็ก หิน ปูน และทรายในการก่อสร้างพระธาตุ โดยการสร้างไม่ได้ก่ออิฐถือปูน เหมือนการสร้างทั่วไป แต่ใช้วิธีการหล่อปูนเป็นชั้นๆขึ้นไป จึงสามารถมองเห็นพระธาตุองค์ที่อยู่ด้านใน ในขณะนั้นครูบาศรีวิชัยได้ไปทำกิจยังที่อื่น จึงได้ให้ครูบาอภิชัยขาวปี๋ควบคุมการก่อสร้างต่อไป ซึ่งครูบากลับมาดูการก่อสร้างเป็นช่วงๆ จนแล้วเสร็จ จึงได้ทำการเฉลิมฉลองเป็นเวลา 7 วัน 7 คืน ในการบูรณะในครั้งนี้ครูบาศรีวิชัยได้สร้างพระวิหาร ศาลารายรอบพระวิหาร สร้างเจดีย์ครอบเจดีย์องค์เดิม ซึ่งก็ยังคงสภาพมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นที่น่าสังเกตว่า องค์พระเจดีย์มีความคล้ายคลึงกับเจดีย์ของวัดพระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ อีกด้วย ด้านหน้าปากทางเข้าวัด เราจะสังเกตเห็นเสือสองตัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ปีเกิดของครูบาศรีวิชัยค่ะ

การเที่ยววัดแต่ได้ความรู้ในครั้งนี้ทำเราเลื่อมใสในความศรัทธาในพระพุทธศาสนาจากคนรุ่นก่อน เป็นอย่างมาก ชวนให้เรานึกถึงคำกล่าวที่เราไม่เคยลืมที่ว่า “ที่ๆสามารถเก็บเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้ผิดเพี้ยนน้อยที่สุด นั่นก็คือ ศาสนา” การเที่ยววัดให้สนุกและได้ความรู้ คือเราต้องรู้ข้อมูลของวัดก่อนที่จะมาเที่ยวค่ะ จะทำให้เราได้อรรถรสในการเดิน การมอง การสัมผัสและเข้าถึงสถานที่นั้นๆ ได้อย่างสนุกมากยิ่งขึ้นค่ะ เพราะเหมือนคล้ายกับว่าเราได้ย้อนเวลาเข้าไปอยู่ในช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์จริงๆ เราหวังว่า ข้อมูลในอดีตกาลที่ถูกเก็บและสืบทอดมากว่าพันปีนี้จะเป็นแรงบันดาลใจปลุกความเป็นนักประวัติศาสตร์ในตัวคุณค่ะ…

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับสถานที่แห่งดินแดนล้านนาที่มีพระเกศาธาตุและรอยพระบาท

เมืองลื้อไว้พระบาทเจ้าสี่รอย ยังดอยเกิ้งไว้เกศาธาตุ ในเมืองฮอดไว้พระบาทหนึ่งรอย ยังหาดนาคไว้พระบาทเบื้องซ้าย ดอยศรีจอมทองไว้เกศาธาตุ รอดถึงในอัมพวนารามทุ่งตูมแห่งนี้ก็เป็นที่ไว้เกศาธาตุ  พระพุทธเจ้าได้กล่าวไว้กับสาวก เมื่อครั้นพระองค์ปรินิพพานไปแล้วนั้น ให้นำเอาธาตุกระดูกซี่โครงเบื้องซ้าย มาประดิษฐานไว้กับพระเกศาธาตุ(ผม) ยังอัมพวนารามทุ่งตูมแห่งนี้ที่ได้ทำนายไว้ ในภายหลังที่แห่งนี้จะเป็นที่เลื่องชื่อลือชาปรากฏชื่อ ธาตุมหาธาตุ เป็นตำนานสืบไป จนถึงในยั้งหวีด(วัดพระบาทยั้งหวีดในปัจจุบัน)ไว้พระบาท ในเมืองแจ่มไว้พระบาทเบื้องซ้ายหนึ่ง แห่งหนึ่งชื่อว่า สหมุนชอน ไว้พระบาทหนึ่งรอย ดอยน้อย(วัดพระธาตุดอยน้อย ในปัจจุบัน) ไว้เกศาธาตุ ในลำปางไว้พระเกศาธาตุ พระพุทธเจ้าได้เดินทางไปยังเมืองแพร่ พระยารอเซิงเมืองเชียงแสนเชียงราย เมืองฝางเมืองหาง เมืองพระยาก เมืองชวาด ดอยสุเทพ สวนดอกไม้ดอนพรั่งเมืองเชียงใหม่ เมืองลำพูน เมืองเหล่านี้พระพุทธเจ้าล้วนเดินทางไปเพื่อมอบเกศาธาตุส่วนต่างๆไว้ให้สักการะบูชาแก่คนทั้งหลาย

พิกัดการเดินทางมายังวัดพระธาตุทุ่งตูม : ต.มะขุนหวาน อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ใช้ถนนเชียงใหม่-สันป่าตอง เลยตลาดนัดทุ่งฟ้าบด(มีเฉพาะวันเสาร์) จากนั้นขับตรงมาเลยแยกไฟแดงโรงพยาบาลสันป่าตอง ตรงมาเรื่อยๆ เลยร้านกาแฟอินทนนท์ ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือ ถัดจากร้านกาแฟมาประมาณ 100 เมตรด้านซ้ายมือจะมีป้ายวัดบอกทั้ง 2 วัด คือวัดพระบาทยั้งหวีด กับ วัดพระธาตุทุ่งตูม ไปทางเดียวกันค่ะ ขับตรงเข้ามาจะเจอทางแยก ให้ขับตรงเข้ามาอีก ขับมาได้ 200 เมตรเราจะสังเกตเห็นหลังคาวัดพระบาทยั้งหวีด ขับตามถนนมาเรื่อยๆไม่ไกลก็จะเจอกับวัดพระบาทยั้งหวีดก่อน จากนั้นขับเลยวัดมา ตรงมาตามทางจะเจอป้ายวัดพระธาตุทุ่งตูมให้เลี้ยวซ้าย ขับตรงเข้ามาจะเจอกับสวนลำไย ขับตรงเข้ามาอีกไม่ไกลจะมีป้ายให้เลี้ยวขวา ขับเข้าไปไม่ไกลก็จะเจอวัดค่ะ

[ พบกับการท่องป่าอัมพวนาราม ตอนวัดพระบาทยั้งหวีดได้ในตอนต่อไปค่ะ]

รีวิว โดย ปาณิสรา นฤประชา

**ขอบคุณ ข้อมูลจากหนังสือตำนานพระธาตุทุ่งตูม**

**ขอบคุณพี่อ้วน ที่พาชมวัดค่ะ**

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น