เกี่ยวก้อย จับมือ เที่ยว สะพานโรแมนติก “สะพานแขวน แห่งน้ำปิง เมืองตาก”
ชมอาทิตย์อัสดง สัมผัสความงามเเห่งสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือที่เรียกว่า “สะพานแขวน”จังหวัดตาก
จังหวัดตาก หรือเมืองตากจังหวัดที่เชื่อว่าหลายคนคิดว่าเป็นแค่เมืองผ่าน แต่รู้ไหมว่าจังหวัดนี้มีอะไรดีๆซ่อนอยู่มากมาย วันนี้ “แอ่วดี รีวิว”จะพามามุม ชิวๆ สบายๆยามเย็น มามองพระอาทิตย์อัสดง ริมน้ำปิงที่กว้างใหญ่และใสที่หนึ่งในประเทศไทย สะพานแห่งความโรแมนติก “สะพานแขวน แห่งน้ำปิง”
สะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี หรือที่เรียกว่า “สะพานแขวน” สร้างเมื่อ พุทธศักราช 2525 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก เพื่อสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ขนาดกว้าง 2.50 ม. ยาว 700 ม. ฐานรากและเสาเป็นคอนกรีต จำนวน 5 จุด พื้นทำด้วยไม้โยง ยึดด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่ โดยสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีสร้างเชื่อมระหว่างตัวเมืองตาก และตำบลป่ามะม่วง
สำหรับเดินชมทิวทัศน์แม่น้ำปิงโดยบนสะพานมีระยะทางยาวประมาณ 400 เมตร แต่เวลาเดินจะมีการโยกนิดๆ แต่ทว่าหากอยากสัมผัส สายลม สายน้ำ อันยิ่งใหญ่ เป็นที่หนึ่งที่น่าประทับใจ ไม่แปลกเลยว่าทำไมสะพานแห่งนี้ยามเย็น จึงมีคนมาชื่นชมธรรมชาติอย่างไม่ขาดสาย ยิ่งถ้าเป็นช่วงกลางคืนด้วยแล้วจะมีการประดับไฟสวยงามในยามค่ำคืน ยิ่งทำให้ความสวยงามมากขึ้นอันเนื่องมาจากแสงไฟที่สว่างไสวตัดกับผืนน้ำที่ดำสุดลูกหูลูกตา หากคืนใดมีดาวเปล่งแสงระยิบระยับจะเพิ่มความสวยงามให้กับสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ยิ่งขึ้นไปอีก
หากนักท่องเที่ยวได้มีโอกาสแวะเวียนไปยังจังหวัดตาก นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาดที่จะแวะเวียนไปเดินชมวิวบนสะพานแห่งนี้และเก็บภาพความประทับใจไว้
บริเวณแห่งนี้จังหวัดตากยังใช้จัดงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวงซึ่งเป็นงานประเพณีประจำท้องถิ่นของจังหวัดตากซึ่งมีความน่าสนใจมากโดยกระทงที่ใช้ลอยจะเป็นกระทงที่ทำจากกะลามะพร้าว
ซึ่งการลอยกระทงกะลามะพร้าวเป็นสายในแม่น้ำปิงนั้นมีแห่งเดียวในเมืองไทย หากได้แวะมาเมืองตาก หาโอกาสสักครั้งมาแวะเยี่ยมยืน “สะพานแขวน โรแมนติก แห่งเมืองตาก” แล้วคุณจะรู้ว่า เขาเล่าว่าที่แห่งนี้มีจริง
จะมากันเป็นกลุ่มหรือมาเป็นคู่ ก็ได้อารมณ์
…………..จะชิวไปไหน ………..กับสายลมเย็น……..วิวสวยๆ………และมีเธอ
หากนักท่องเที่ยวต้องการสัมผัสจะต้องมาที่จังหวัดตากแห่งนี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
ททท. สำนักงานตาก โทร. 0 5551 4341 – 3
และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โทร. 1672
บทความ ใหญ่ สรวิชญ์ / ภาพ ใหญ่ สรวิชญ์ , ปาณิสรา นฤประชา