แอ่วดี ตอน ผจญภัย ณ ถ้ำตับเตา
“ถ้ำตับเตา” หนึ่งในถ้ำเก่าแก่ ที่มีตำนานเรื่องเล่าที่ไม่ธรรมดา ชวนให้น่าค้นหาและอยากทำให้เราไปเห็นที่นี่ด้วยตาตัวเองสักครั้ง
เมื่อครั้งยังเด็ก เวลามีใครถามว่าโตมาอยากจะเป็นอะไร จะตอบโดยไม่ต้องคิดเลยว่า อยากเป็น “นักผจญภัย” ทุกๆครั้งที่ได้ แบกเป้เดินทางท่องเที่ยวไปยังป่าเขาลำเนาไพร เดินป่า ปล่อยกายปล่อยใจให้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ เปรียบได้เหมือนกับเราเกิดมาเพื่อสิ่งนี้จริงๆ และยิ่งตื่นเต้นทุกครั้งถ้าได้ไปเที่ยวถ้ำ อะดรีนาลีนในร่างกายมันทำให้กระชับกระเฉงอย่างบอกไม่ถูก ทั้งตื่นเต้น ท้าทาย เหมือนเราหลุดไปอยู่ในหนังเรื่องอินเดียน่าโจนส์ ตอน ถล่มวิหารเจ้าแม่กาลี เพราะหนึ่งในฉากของหนังจะมีการผจญภัยในถ้ำรวมอยู่ด้วย เหมือนกับตอนนี้ที่เราจะพาไปเที่ยวยัง “ถ้ำตับเตา” หนึ่งในถ้ำเก่าแก่ ที่มีตำนานเรื่องเล่าที่ไม่ธรรมดา ชวนให้น่าค้นหาและอยากทำให้เราไปเห็นที่นี่ด้วยตาตัวเองสักครั้ง
ผจญภัยไปกับ “แอ่วดี”
ถ้าจะพูดถึง “วัดถ้ำตับเตา” ออกเสียงเพี้ยนมาจากคำว่า “ดับเต้า” เป็นภาษาเหนือแปลได้ว่า ดับขี้เถ้า ตามตำนานของถ้ำกล่าวว่า พระอรหันต์ได้มาบำเพ็ญภาวนา ณ สถานที่แห่งนี้และได้ปรินิพาน ณ ปากถ้ำ เหล่าทวยเทพจึงถวายเพลิงจนทำให้ไฟไหม้ลามลงไปยังด้านในของถ้ำ ดังนั้นพญานาคจึงได้ขึ้นมาพ่นน้ำดับไฟ ทำให้มีขี้เถ้าอยู่ภายในถ้ำมากมาย นี่จึงเป็นที่มาของชื่อวัด
วัดถ้ำตับเตา สร้างในสมัยใด ยังไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัด แต่พอจะทราบจากการที่มีสิ่งก่อสร้างยังคงหลงเหลืออยู่ คือ พระพุทธรูปไสยาสน์องค์ขนาดใหญ่เป็นพระนอน รอบพระนอนมีพระนั่งพนมมือรอบทิศ สร้างมาจากอิฐพอกด้วยยางไม้และปิดทองคล้ายกับศิลปะของอยุธยา สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเอกาทศรถ เมื่อครั้งยกทัพเข้ามาตีเมืองพม่า ถ้ำแห่งนี้จึงเป็นที่ประทับของท่าน หลังจากนั้นกาลเวลาล่วงเลยมา วัดแห่งนี้จึงกลายเป็นวัดร้างมานาน แต่ถูกบูรณะขึ้นอีกครั้งโดยเจ้าหลวงมหาวงศ์ และได้มีการเขียนบันทึกถึงเรื่องราวความเป็นมาของถ้ำแห่งนี้ให้คนรุ่นหลังได้สืบค้นข้อมูลได้
วัดถ้ำตับเตา ตั้งอยู่ที่ หมู่ 13 ตำบลศรีดงเย็น อำเภอไชยปราการ โดยมาทางเส้นทาง เชียงใหม่-ฝาง การเดินทางก็ไม่ยากและไม่ง่าย สำหรับคนที่ไม่ถนัดการนั่งรถผ่านโค้งมากมาย ภูเขาคดเคี้ยวคล้ายเส้นทางปาย-แม่ฮ่องสอน เนื่องจากถนนเป็นภูเขาสลับกับทางราบ ไม่ว่าจะมาด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือ มอเตอร์ไซต์ ก็มาได้เช่นกัน จากปากทางถนนหลัก เข้ามาอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ขับไปตามทาง จะมีป้ายบอกไว้ โดยเราจะขับผ่านหมู่บ้านก่อนเข้าถึงวัดถ้ำตับเตา เมื่อขับผ่านซุ้มประตูเข้ามา ก็จะเจอที่จอดรถกว้างขวางมากมาย และสงบร่มรื่น เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ในส่วนของถ้ำจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ถ้ำแจ้ง กับ ถ้ำมืด ในส่วนของถ้ำแจ้ง จะเดินเข้าไปไม่ลึก เนื่องจากส่วนนี้จะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ และส่วนนี้จะมีหนึ่งความน่าสนใจคือจะมีปล่องถ้ำ ซึ่งจะมีแสงสาดส่องลงมา ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม เหมาะอย่างยิ่งแก่การลั่นชัตเตอร์เก็บภาพ
อีกด้านจะเป็นถ้ำมืด ถ้ำตับเตาจะมีขนาดเล็กกว่าถ้ำเชียงดาว แต่ถ้ำจะค่อนข้างลึก ทางคดเดี้ยว บางช่วงการปีนป่ายขึ้นบันได ลอดทางแคบ มากกว่าแต่ถ้ำตับเตาจะเป็นถ้ำปิด มีทางออกแค่ทางเดียวคือทางที่เราเดินเข้ามา เพราะฉะนั้นอากาศด้านในสุดของถ้ำจึงมีค่อนข้างน้อย ในกรณีของเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนที่เป็นโรคความดัน หัวใจ ควรเตรียมความพร้อมก่อนเข้าชมถ้ำนี้ การเดินเข้าชมถ้ำจำเป็นต้องใช้ตะเกียงเจ้าพายุ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่ปากทางเข้าด้านหน้า และถ้าเราเดินทางไปช่วงปิดเทอม ก็จะมีไกด์ตัวน้อย “น้องรอด”มาคอยต้อนรับและพาเที่ยวข้างในถ้ำ เห็นตัวเล็กแบบนี้แต่คล่องแคล่วและอธิบายได้เก่งมาก
เดินไปสักพักหลังจากปีนป่าย พอเรียกเหงื่อให้ชุ่ม เราก็ได้เห็นความงามของถ้ำ หินงอกหินย้อย และค้างคาวที่เกาะอยู่บนเพดานถ้ำ พร้อมฟังประวัติของถ้ำด้วยเสียงเจื้อยแจ้วของไกด์ตัวน้อย น้องรอดเล่าให้เราฟังว่าที่นี่จะมีงูเจ้าที่ออกมาทักทายนักท่องเที่ยวเป็นบางครั้ง แต่โชคดีเหลือเกินตอนที่เราไปเขาไม่ได้ออกมาต้อนรับเรา เดินไปจนสุดถ้ำ เราก็พบกับ “เจดีย์นิ่ม” ซึ่งจารึกปี พ.ศ.1463 ไว้ที่ฐานเจดีย์ และยังมีรูปปั้นเด็กหญิง เด็กชาย ว่ากันว่าผู้ใดอยากมีบุตรให้มาขอพรที่นี่ ส่วนมากมักจะสมหวังตามความปรารถนา การเดินทางในครั้งนี้ของเรานอกจากจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์แล้วยังได้ความรู้ สนุกตื่นเต้นไม่น้อย มาเที่ยวที่นี่กันค่ะ…หากคุณคือหนึ่งในคนที่รักการผจญภัยเหมือนเรา
เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อยจาก “แอ่วดี”
- การเดินทางมาเที่ยวถ้ำควรแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสวมใส่สบาย รองเท้าผ้าใบ
- เนื่องจากการเดินชมถ้ำมืดจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง เพราะถ้ำค่อนข้างจะลึกพอสมควร ควรพกน้ำดื่มมาจิบให้ชุ่มคอระหว่างเดินชมถ้ำด้วยค่ะ
- เนื่องจากการเดินถ้ำต้องปีนป่าย และลอดทางแคบ จึงไม่ค่อยเหมาะกับผู้สูงอายุหรือเด็กเล็ก และผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ความดัน โรคหัวใจ
- กล้องถ่ายภาพ ขาดไม่ได้เนื่องจากมีจุดถ่ายภาพที่สวยงามมากมายค่ะ
ภาพ/บทความ : ปาณิสรา นฤประชา