เวียงแหงเมืองแห่งแดนลับแล
“เวียงแหง” ในความทรงจำของเราคือเมืองที่ทุรกันดาร เดินทางลำบาก ถนนมีแต่ลูกรัง และค่อนข้างไกลไปมาไม่สะดวก แต่หลังจากที่เราได้มาสัมผัสกับที่นี่ ก็ไม่ได้เดินทางมาลำบากอย่างที่คิด เปิดมุมมองและประสบการณ์ใหม่ๆให้กับเรา “แอ่วดี” ได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า หมอกในยามเช้า อากาศเย็นสบาย นอกจากนั้นเรายังได้เห็นวิถีชีวิตที่หลากหลายของคนที่นี่ซึ่งมีมากถึง 9 ชาติพันธุ์
“เวียงแหง” อาจจะเป็นเมืองเล็กๆแต่ทรงคุณค่า ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายที่ที่รอการค้นพบ นอกจากนั้นที่นี่ยังเป็นเมืองแห่งประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ซึ่งเราก็ขอเป็นส่วนหนึ่งของการตามรอยในครั้งนี้
การเดินทางมาเวียงแหง จากเชียงใหม่มาที่นี่มีระยะทางประมาณ 150 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง โดยเราใช้เส้นทาง เชียงใหม่-เชียงดาว แต่การเดินทางของเรา “แอ่วดี” ในครั้งนี้ พิเศษกว่าครั้งอื่น นั่นคือ การเดินทางตามรอยกองทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อครั้งในอดีต โดยก่อนเดินทางเราได้ไปสักการะขอพรยัง “พระธาตุดอยจอมแจ้ง” ต.ขี้เหล็ก อ.แม่แตง วัดเก่าแก่กว่า 2,000 ปี ในอดีตวัดแห่งนี้ถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์อีกจุดหนึ่ง เพราะมีทำเลที่ดีสามารถเห็นเมืองและแม่น้ำสายสำคัญได้อย่างชัดเจน
ตามตำนานเล่าขานกันว่า บริเวณนี้แต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าลั๊วะ (ปกครองโดยขุนหลวงวิลังคะ) ผ่านการบูรณะมาหลายครั้ง โดยพ่อขุนเม็งราย และแม่ทัพพม่า ดังจะเห็นศิลปะของพม่าภายในบริเวณวัด 700 ปีให้หลัง เชียงใหม่ได้ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่า แต่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและพระเอกาทศรถ ได้ยกทัพมาตีทัพพม่าจนแตกพ่าย ณ บริเวณด้านหน้าของวัด แล้วจึงได้จัดพิธีบวงสรวงสักการะเทพยดาที่วัดแห่งนี้ ก่อนที่จะเดินทัพไปบุกตีเมืองพม่า แต่พระองค์ได้ติดเชื้อไข้ป่าและสวรรคตยังเมืองหางเสียก่อน กาลเวลาล่วงเลยวัดก็ชำรุดทรุดโทรมแต่ผ่านการบูรณะอีกครั้งโดยครูบาศรีวิชัย (นักบุญแห่งล้านนา) จนถึงปัจจุบัน
จากนั้นเราได้เดินทางต่อไปยัง “พลับพลาที่ประทับสมเด็จพระนเรศวรมหาราช” ณ บ้านปางไม้แดง ต.บ้านช้าง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งสถานที่นี้นอกจากเราจะแวะสักการะขอพรแล้วยังระลึกถึงพระองค์ที่ทรงปราบศัตรูที่เข้ามารุกรานชาติไทยจนหมดสิ้น สถานที่แห่งนี้ยังมีความสำคัญคือ เป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่ในอดีต สมเด็จพระนเรศวร ได้ใช้พักทัพ เพราะการเดินทัพในอดีตจะเดินตามเส้นทางแม่น้ำแม่แตง ก่อนที่จะเข้าตีเมืองนาย ซึ่งถือได้ว่าสงครามในครั้งนี้เป็นสงครามครั้งสุดท้ายของไทยก็ว่าได้ ซึ่งผ่านมากว่า 410 ปีแล้ว
ก่อนที่เราจะเดินทางต่อไปยัง “เมืองกื๊ด” เข้า “เมืองคอง” เพื่อตามรอยการเดินทัพ แต่เนื่องจากวันที่เราเดินทางไปเป็นช่วงเปลี่ยนฤดู จึงเกิดน้ำป่าไหลหลาก ปิดกั้นถนน เราจึงต้องเปลี่ยนเส้นทาง โดยใช้เส้นทาง เชียงดาว (ทางไปถ้ำเชียงดาว) -เมืองคอง แทน การเดินทางในครั้งนี้ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ใจคิด เพราะนอกจากจะฝนตกแล้ว ก็ยังเจอน้ำป่าไหลหลากจากที่นี่อีกครั้ง แต่จากความตั้งใจและศรัทธาในการเดินตามรอยในครั้งนี้ ก็ทำให้เราไม่ยอมแพ้ ยังคงบุกบั่นไปจนถึง “เมืองคอง” ซึ่งเราไม่เคยได้ยินชื่อเมืองนี้มาก่อน การเดินทางมายังที่นี่ก็ไม่ธรรมดา เพราะทางขึ้นเป็นเขาสูงชัน สลับกับทางแคบที่เรียกได้ว่ารถยนต์แทบจะวิ่งได้เลนส์เดียว บรรยากาศสองข้างทางเป็นภูเขาสลับกับที่ราบลุ่ม นอกจากนั้นยังได้เห็น “ดอยหลวงเชียงดาว” แบบชัดเจนอีกด้วย ดื่มด่ำกับวิวสองข้างทางจนลืมเวียนหัวกับทางอันแสนคดเคี้ยวกันเลยทีเดียว
จาก เมืองคอง ไปยัง เวียงแหง ถนนก็ถูกตัดขาดอีกเช่นกัน โดยน้ำป่าพัดถล่มเหมือนเส้นทางที่ผ่านมา เราจึงต้องเปลี่ยนมาใช้รถโฟร์วีล เพื่อตามเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกในชีวิตของเราและคณะ ทั้งคนขับคนนั่ง เริ่มต้นจากการขับรถเข้าป่าผ่านดินแดง และถนนที่แคบลงเรื่อยๆ อุปสรรคแรกที่เราพบ คือถนนขาด ด้วยความด้อยประสบการณ์ของเรา เราคิดแต่เพียงว่า การเดินทางในครั้งนี้คงสิ้นสุดลงด้วยการหันหลังกลับ เพราะไม่มีทางให้ไปนอกจากข้ามแม่น้ำที่เชี่ยวกราก และตัดต้นไม้ใหญ่ที่ล้มขวางถนนออก แต่ทุกคนก็สามัคคีพร้อมใจกัน เคลียร์ทางจนรถสามารถข้ามผ่านแม่น้ำทีละคัน จนสำเร็จ
การเดินทางในครั้งนี้ มีระยะทาง 25 กิโลเมตร ถ้าถนนปกติจะใช้เวลาในการเดินทางไม่นานนัก สำหรับการเดินทางของเราในครั้งนี้ ช่างดูยาวนานเหลือเกิน เพราะกว่าจะผ่านได้แต่ละกิโล ต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นการขับรถลุยแม่น้ำ ที่ดูเหมือนเส้นทางจะเปลี่ยนไปเพราะโดนน้ำป่าพัดถล่ม ทั้งยังเจอดินสไลด์ ดินทรุด ต้นไม้ล้มขวางทาง ขับผ่านเหวลึก ที่เราเกาะกันแน่น แทบจะกลั้นหายใจ ผ่านมาแต่ละจุดได้แบบตึงเครียดผสมตื่นเต้น แต่ในความตื่นเต้นนั้นก็แฝงไว้ด้วยความท้าทายที่อยากจะทราบถึงการเดินทางของกองทัพในอดีต การเดินทางทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง เรียกได้ว่าหลุดมาจากป่าเราแทบจะโล่งใจกันเลยทีเดียว
ประสบการณ์การเดินทางตามรอยการเดินทัพในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นถึงความมานะอุตสาหะของคนในอดีตยิ่งนัก ที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะทำเพื่อบ้าน เพื่อเมือง สิ่งนี้เองที่ทำให้เราสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่บากบั่นทำเพื่อประเทศชาติอย่างแท้จริง
เส้นทางต่อไปที่เรา “แอ่วดี” จะพาไปคือ บ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ อากาศที่นี่จะเย็นสลับกับฝนตลอดทั้งปี เนื่องจากลักษณะของที่นี่จะมีภูเขาและป่าไม้ค่อนข้างมาก และที่นี่เองยังติดเขตชายแดนหลักแต่ง ซึ่งในอนาคตที่นี่อาจจะเปิดการค้าเสรีเชื่อมทั้งสองชาติ ครอบคลุมในหลายๆด้าน ทั้งเศรษฐกิจและการคมนาคม ในความคิดของเราการมาเยือนเมืองที่เงียบสงบแฝงไว้ด้วยมนต์สเน่ห์แห่งนี้ เหมือนเรามาเยือนเมืองเดียวแต่หลายประเทศ จะสังเกตได้จากวัดของที่นี่เป็นศิลปะของพม่า โบสถ์ของวัดจะเป็นลักษณะคล้ายบ้านไม้ยกสูง บ้านเรือนบ้างก็คล้ายลักษณะบ้านของชาวจีนยูนนาน สมกับเป็นเมืองของคนหลากหลายชาติพันธุ์แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยคนที่นี่ส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาพุทธ
ยามเช้านอกจากจะเห็นสายหมอกโอบล้อมภูเขาแล้ว เรายังได้เดินชมตลาดเช้า ซึ่งมีสินค้าและอาหารมากมายที่ดูแปลกตา ไม่ว่าจะเป็นโดนัทชาโคว์ (ที่เราแอบตั้งชื่อเอง) เป็นขนมวงชุบน้ำตาล, ข้าวถั่วพู หรือ ข้าวแรมฟืน, ขนมจีนพม่า จากนั้นเราได้เดินทางต่อไปยัง “วัดฟ้าเวียงอินทร์(WAT FA WIANG INN)” ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง สุดเขตประเทศไทย วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 2400 ซึ่งวัดนี้เองมีเอกลักษณ์ที่พิเศษคือเป็นวัดเดียว แต่มี 2 แผ่นดิน ครึ่งหนึ่งอยู่ไทยอีกครึ่งหนึ่งอยู่พม่า โดยมีเจดีย์อยู่ฝั่งไทย แต่โบสถ์อยู่ฝั่งพม่า เราสามารถมองเห็นได้จากบริเวณจุดชมวิวด้านบน นอกจากนั้นด้านหน้าของจุดชมวิว ยังเป็นสุสานของนายพลโมเฮง อดีตผู้นำชาวไทใหญ่อีกด้วย สถาปัตยกรรมของที่นี่จะเป็นแบบไทใหญ่ ด้านหลังของเจดีย์จะมีศาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งอยู่ ซึ่งชาวบ้านที่นี่ไม่ว่าจะเป็นทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่าให้ความเคารพกันมาก
ยังมีวัดเก่าแก่อีกหนึ่งวัดที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวเวียงแหง และมีความสำคัญของการตามรอยของเราในครั้งนี้ นั่นคือ “วัดพระธาตุแสนไห” ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง วัดนี้สร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ในปี พ.ศ.2148 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาพักทัพบริเวณนี้ จึงได้ทำการบูรณะพระธาตุ(สถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่) ร่วมกับชาวบ้าน ก่อนที่จะยกทัพไปตีเมืองอังวะ
ตามตำนานเล่าว่า ในอดีตพระพุทธเจ้าและพระอานนท์ได้เดินทางมาพักแรม ณ บริเวณ เขาลูกนี้ โดยมีชาวกระเหรี่ยง ได้นำอาหารมาถวาย พร้อมกับแตงโม พระอานนท์ได้นำแตงโมไปถวายพระพุทธเจ้าโดยทิ้งเปลือกลงในแม่น้ำ โดยต่อมาแม่น้ำแห่งนี้ ได้ชื่อว่า “แม่น้ำแตง” ซึ่งเรียกขานกันมาจนถึงทุกวันนี้ ขณะที่พระพุทธเจ้าเสวยแตงโม ฟัน(พระทนต์)ได้กระเทาะออก โดยกะเทาะภาษาเหนือ เรียกว่า “แหง” จากนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้มอบพระทนต์ ให้กับชาวกระเหรี่ยงเพื่อเป็นทาน(ทานเขี้ยวแหง) ต่อมาเมืองแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “เมืองแหง” จากนั้นจึงได้นำพระทนต์นี้บรรจุและสร้างสถูปครอบไว้ ซึ่งต่อมาที่นี่ได้เป็นที่ประดิษฐานของพระธาตุแสนไหในปัจจุบัน
การเดินทางตามรอยประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ นอกจากจะได้ความรู้ ความตื่นเต้น และความประทับใจแล้ว เชื่อว่ายังสร้างจิตสำนึกให้เรารักชาติมากยิ่งขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย เพราะได้เห็นความมานะอุตสาหะของคนในอดีต ที่กว่าจะรวมชาติไทยให้เป็นไทยจนถึงทุกวันนี้ ต้องแลกด้วยชีวิตและหยาดเหงื่อของคนในอดีตอย่างแท้จริง “แอ่วดี”ขอน้อมสำนึกในพระกรุณาธิคุณของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
สถานที่แนะนำ
- บ้านพัก เฮือนกิ่งกะหร่า บ้านเปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ที่พักเป็นบ้านไม้ 2 ชั้น เงียบสงบ อากาศดี ที่สำคัญวิวติดดอย ดูหมอกยามเช้าสวยมาก และที่นี่ยังมีห้องอาหาร ร้านกาแฟ บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย สำหรับใครที่คิดว่าที่นี่จะห่างไกลความเจริญ ไม่เลย เพราะไม่ไกลนักมี 7-11 อีกด้วย จากที่พักไปไม่ไกลนัก มีสถานที่ท่องเที่ยวคือ ด่านหลักแต่งและวัดฟ้าเวียงอินทร์ อีกยังสามารถเดินเที่ยวเก็บภาพชุมชน วัด ตลาดเช้า ติดต่อสอบถามห้องพัก… คุณไก่ 087-1815055
ภาพและบทความ ปาณิสรา นฤประชา
รถเก๋งเล็กไปได้ไหมเส้นทางถนนเป็นยังไงครับ
ตอนนี้สามารถไปได้แล้วค่ะ ถนนดีแล้ว