ท่องเที่ยวตามรอยเส้นทางสายไหม ลำพูน vs เชียงใหม่
แอ่วดี-Review ได้มีโอกาสเข้าร่วมทริป “โครงการยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว” ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเตรียมผลักดันผ้าไหมไทยให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพื่อยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมของไทยให้มีความเข้มแข็ง เชื่อมโยงเครือข่ายและการตลาดขนานไปตามเส้นทางท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ด้านการผลิต เทคนิคเฉพาะ และอัตลักษณ์ผ้าไหมของแต่ละชุมชนเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอด
“ผ้าไหมไทย” ได้รับการขนานนามว่า…เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติของประเทศที่มีความสวยงาม มีความอ่อนนุ่ม เส้นไหมมีความเลื่อม เงางามโดยธรรมชาติ ใส่แล้วภูมิฐาน นอกจากนี้คุณสมบัติอันเฉพาะตัวของผ้าไหม นั่นก็คือ เมื่ออากาศร้อน ผ้าไหมจะช่วยคลายร้อน ให้กับผู้ที่สวมใส่ และเมื่ออากาศหนาว ผ้าไหมบางๆกลับช่วยให้อุ่นสบาย ซึ่งถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของผ้าไหมไทย นำมาซึ่งความภาคภูมิใจเมื่อได้สวมใส่หรือใช้งาน
นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นผ่านลวดลายอันวิจิตรบรรจงบนผืนผ้าไหม ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่ควรได้รับการส่งเสริมและเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จัก เพื่อดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของประเทศไทย
หากจะกล่าวถึง “ผ้าไหมยกดอก” อันลือชื่อเห็นจะหนีไม่พ้นเมืองลำพูน ที่คนรักงานผ้าไหมต้องมาให้ได้สักครั้งหนึ่ง เพราะลำพูนเป็นศูนย์กลางแห่งการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย การทอผ้าของชาวลำพูนถือได้ว่าเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าที่ถูกสืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจวบจนถึงปัจจุบัน และหากอยากได้ความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าไหมยอกดอก ก็ต้องมาที่นี่ “สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย” ซึ่งนอกจากจะได้ชมวีดีทัศน์เกี่ยวกับเรื่องราวของผ้าแล้ว ที่นี่ก็ยังมีโรงทอผ้า และห้องนิทรรศการบอกเล่าเรื่องราวของผ้า ให้ได้เดินชมเพลินๆอีกด้วย
แต่หากอยากเลือกเลือกซื้อสินค้าทั้งผ้าไหม ผ้าฝ้าย ก็สามารถไปได้ที่ “ลำพูนไหมไทย” ทางกลุ่มลำพูนผ้าไหมไทย ได้เริ่มรวมกลุ่มกันทอผ้ายกดอกตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 และได้อนุรักษ์ลวดลายผ้าไหมยกดอกแบบโบราณ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดลำพูน เช่น ลายดอกแก้ว หรือลายพิกุลไว้ อีกทั้งยังได้คิดค้นลวดลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสงานพระราชพิธีต่างๆ และงานแฟชั่นเครื่องแต่งกายร่วมสมัยในปัจจุบัน
นอกจากลำพูนไหมไทยแล้วยังมีอีกหนึ่งสถานที่นั่นก็คือ “กลุ่มหัตถกรรมผ้าฝ้ายยกดอกบ้านแม่สารบ้านตอง” ซึ่งถือได้ว่าเป็นหมู่บ้านหัตถกรรมที่มีความโดดเด่นในการทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายด้วยลวดลายยกดอกที่ยังคงใช้วิธีการทอผ้าแบบโบราณ ลวดลายบนผ้าเมื่อสัมผัสแล้วจะนูนขึ้นจากตัวผ้า มีการจัดวางลายอย่างเป็นระเบียบและลงตัว นอกจากนี้ที่นี่ยังให้ความสำคัญกับการเลือกสีมาผสมผสานบนผืนผ้า ผ้าทอนิยมนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะการตัดเย็บเป็นผ้าถุง
การเดินทางตามรอยเส้นทางสายไหม นอกจากเมืองลำพูนแล้ว เมืองเชียงใหม่ ก็มีผลงานการทอผ้าไหมที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เป็นสองรองใคร การเข้าเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์ผ้าไหมสันกำแพง” คือหนึ่งในสถานที่ที่คนรักผ้าไหมไม่ควรพลาดอีกเช่นกัน
เมื่อปี พ.ศ.2555 กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราช พิพิธภัณฑ์ผ้าไหมสันกำแพง ขึ้นเพื่ออนุรักษ์ สืบสานและส่งเสริมมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมนี้ให้คงอยู่สืบไป ภายในพิพิธภัณฑ์มีการจัดแสดงผ้าทอ ผ้าไหมลวดลายขึ้นชื่อของอำเภอสันกำแพง มีการสาธิตการย้อมผ้าและการทอผ้าไหม
จากอดีตเมื่อกว่า 100 ปีที่ผ่านมาเชียงใหม่ได้เริ่มมีการค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศพม่า และหนึ่งในสินค้าที่นำมาค้าขายแลกเปลี่ยนนั่นก็คือ “เส้นไหมดิบ” จากพม่ากลับมาทอเป็นผ้าซิ่นไหม ผ้าโสร่งไหม แล้วก็ได้ส่งกลับไปขายอีกต่อหนึ่ง ในอดีตคนสันกำแพงไม่ได้เลี้ยงไหมเอง เนื่องมาจากเพราะเป็นคนใจบุญสุนทาน ต้องฆ่าตัวไหมหลายชีวิตกว่าที่จะได้เส้นไหมออกมา จึงทำให้ต้องสั่งนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง
สมัยอดีตมีความนิยมประชาสัมพันธ์ผ้าไหมภายในร้าน โดยใช้นางงามเนื่องมาจากเมื่อเอาผ้าไหมมาเทียบกับตัวแล้วจะดูสวยงาม ต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปใช้ผ้าไหมญี่ปุ่นที่มีความหนา และความสวย แต่ของสันกำแพงเป็นผ้าซิ่นไหม ประกอบกับปริมาณนักท่องเที่ยวได้เริ่มลดลง ภายหลังได้มีการปรับตัวเปลี่ยนมาเป็นการทอผ้าฝ้าย ผ้าขาวม้าแทนผ้าไหม หลังจากนั้นมาผ้าไหมสันกำแพงก็เริ่มหายไปได้เกือบ 30 ปี ถึงได้มีการรื้อฟื้นงานทอผ้าไหมสันกำแพงขึ้นมาใหม่
จุดเด่นของผ้าไหมสันกำแพง ที่แตกต่างจากที่อื่นนั่นก็คือ มีลวดลายเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งต่อมาได้มีการพัฒนามาเป็น “ลาย 7 วัน” หรือเรียกว่า “เชิง 7 วัน” นอกจากนี้ยังมีลวดลายสามแลว สายสามเหล่ม ลายตาปลาลิ๋ม ลายกี่เพ้า ที่ขึ้นชื่ออีกด้วย
ชมพิพิธภัณฑ์ผ้าสันกำแพงเสร็จ หากอยากเลือกซื้อสินค้าผ้าไหมสวยๆกลับไปเป็นของฝากแล้วหล่ะก็ แนะนำที่นี่ค่ะ “ร้านทองไหมไทย” ปัจจุบันการนำผ้าไหมมาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม ไม่ว่าจะเป็นผ้าถุง ชุดเดรส ผ้าพันคอ ไม่ได้เชยล้าหลังอย่างที่เราๆคิดแล้วนะ เนื่องจากเทคโนโลยีการออกแบบตัดเย็บ สามารถปรับให้เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน มีไว้ติดตู้เสื้อผ้าสักชุดสองชุด เชื่อว่าเมื่อได้ใส่ไปงานไม่มีอายใครเลยแหล่ะ…แวะชมกันค่ะ
ขอขอบคุณกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ สำหรับทริปการเดินทางสุดพิเศษในครั้งนี้ค่ะ
ภาพและบทความ ปาณิสรา นฤประชา