“วัดอุโมงค์” ในมุมที่แตกต่าง..
ไปย้อนรอยชมประวัติศาสตร์กัน ฤดูฝน..ฤดูแห่งสายฝนโปรยปราย ที่นี่ก็จะเขียวหน่อยๆ เต็มไปด้วยมอสขึ้นปกคลุมทางเข้าชมอุโมงค์ มองไปทางไหนก็จะสดชื่นไม่น้อย..ดีต่อใจ ไปกันนะ!!
วัดอุโมงค์(อุโมงค์เถรจันทร์) เป็นชื่อเรียกวัดเก่าที่ “พระเจ้ากือนาธรรมิกราช” ทรงสร้างอุโมงค์ขึ้นเพื่อถวายเพื่อให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฏกอาศัย ตามประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งอดีตพระเจ้ามังรายมหาราช (ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์มังราย) ได้สร้างเมืองใหม่ที่ป่าเลาคา (ต้นหญ้าคา)ระหว่างแม่น้ำปิงกับดอยสุเทพแล้ว ได้แต่งตั้งราชบุรุษถือพระราชสาส์นไปทูลเชิญพระสหายร่วมน้ำสาบานทั้งสองคือ พระเจ้ารามคำแหงมหาราช เจ้าผู้ครองนครสุโขทัย และพระเจ้างำเมือง เจ้าผู้ครองนครพะเยา มาปรึกษาการสร้างเมืองที่ เวียงเหล็ก (ที่ตั้งวัดเชียงมั่นทุกวันนี้)
หลังจากที่สามกษัตริย์ได้ตกลงกันว่า ควรสร้างราชธานีใหม่ กว้าง 800 วา ยาว 1000 วา เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาวจากตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตกแล้วก็ทำพิธีฝังเสาหลักเมืองใน วันพฤหัสบดี เดือนแปดเหนือ (เดือนหกใต้) ปีวอก พ.ศ. 1839 ฝังหลักเมืองแล้วใช้พลเมือง 5 หมื่นคน ช่วยกันก่อสร้างพระราชเวศน์มณเฑียรสถาน อีก 4 หมื่นคนช่วยกันขุดคูเมือง และกำแพงเมือง ก่อสร้างอยู่เป็นเวลา 4 เดือนก็แล้วเสร็จหลังจากฉลองเมืองใหม่เป็นการใหญ่ 7 วัน 7 คืนแล้ว กษัตริย์ทั้งสามก็พร้อมใจกันตั้งนามเมืองใหม่ว่า”เมืองนพบุรี ศรีนครพิงค์ เชียงใหม่”
เมื่อสร้างราชธานีเรียบร้อยแล้ว พระเจ้ามังรายมหาราชได้ทรงสร้างวัดสำคัญ ประจำเมืองทั้ง 4 ทิศพร้อมทั้งวัดภายในพระราชวังด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือวัดบริเวณป่าไผ่ 11 กอ (สถานที่ซึ่งเรียกว่าวัดอุโมงค์ สวนพระพุทธธรรมทุกวันนี้)
การสร้างวัดของเมืองลังกาเป็นแบบฉบับ แม้พระเจดีย์ใหญ่อันเป็นหลักชัยของวัด ก็สร้างทรวดทรงแบบพระเจดีย์ในเมืองลังกาทั้งหมด (พระเจดีย์ที่พระเจ้ามังรายสร้างอันเดียวกับพระเจดีย์ใหญ่ที่ปรากฏอยู่ในวัดอุโมงค์สวนพุทธธรรมทุกวันนี้ แต่ของเดิมย่อมกว่าที่ใหญ่ขึ้นยังไม่เก่านัก และมองเห็นลวดลายสวยงามชัดเจน เป็นพระเจ้ากือนาธรรมิกราชรัชกาลที่ 9 แงราชวงศ์มังรายทรงบูรณะขึ้นใหม่ด้วยการพอกปูนทับของเก่า พร้อมกับการสร้างอุโมงค์ให้พระมหาเถรจันทร์อยู่ระหว่าง พ.ศ. 1910-1930) สร้างวัดเสร็จเรียบร้อย และทำการฉลองแล้ว ทรงขนานนามว่า วัดเวฬุกัฏฐาราม (วัดไผ่ 11 กอ)
ต่อมาเมื่อถึงยุคสมัยของพระยากือนา ก็ได้มีการบูรณะปฎิสังขรณ์ขึ้นอีกครั้ง เมื่อทรงบูรณะเจดีย์ใหม่เสร็จแล้ว พระองค์ได้ทรงสร้างอุโมงค์ขนาดใหญ่ ถัดจากฐานพระเจดีย์ด้านเหนือขึ้นหนึ่งอุโมงค์ อุโมงค์ที่ทรงสร้างขึ้นใหม่นี้ทั้งใหญ่และสวยงามมากมีทางเข้าออก 4 ช่อง แต่ละช่องเดินติดต่อกันได้ทั่วถึงข้างฝาผนังด้านในอุโมงค์เจาะช่องสำหรับจุดประทีปให้เกิดความสว่างเป็นระยะ สะดวกแก่พระเดินจงกรม และภาวนาอยู่ข้างใน เพดานอุโมงค์เขียนภาพต่างๆ ด้วยสีน้ำมันไว้ตลอดทั้ง 2 ช่อง ฝีมือที่เขียนดูจะเป็นช่างจีนผสมช่างไทยเมื่อสร้างอุโมงค์เสร็จและทำการฉลองแล้ว ได้ทรงขนานนามว่า วัดอุโมงค์ ชื่อวัดอุโมงค์จึงปรากฏมาตั้งแต่ครั้งนั้น
แนะนำ: ด้านหน้าค่อนไปด้านข้างก่อนเข้าไปยังอุโมงค์จะมีพระพุทธรูปวางเรียงรายกระจัดกระจาย มีทั้งเศียรพระพุทธเจ้านั้น สร้างขึ้นโดยช่างสกุลพะเยา ในช่วงปีพ.ศ 1950-2100 เจ้าชื่น สิโรรส และศรัทธาได้ทะยอยนำมาจากวัดร้างในพะเยาเมื่อปี พ.ศ. 2511-2510
สำหรับใครที่ชื่นชอบเรื่องราวของประวัติศาสตร์ ไปเที่ยวชมความงดงามของวัดอุโมงค์กันได้ค่ะ
พิกัด: วัดอุโมงค์ จะอยู่หลังซอยหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ https://goo.gl/maps/C1nNjYyo9miS2haRA
#แอ่วดีReview
www.aewdee-review.com
#เที่ยวเชียงใหม่ #วัดสวยเชียงใหม่ #วัดเก่าแก่เชียงใหม่ #วัดอุโมงค์