ทริปแอ่วเหนือม่วนใจ๋ “ท่องเที่ยววิถีชุมชน”

แอ่วดีReview ได้มีโอกาสร่วมทริปท่องเที่ยววิถีชุมชนและสุขภาพ ภายใต้โครงการวิจัย “นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพวิถีน้ำพุร้อนในอารยธรรมล้านนา”ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ซึ่งการเดินทางในทริป 3 วัน 2 คืน(ดอยสะเก็ด เวียงกาหลง(เวียงป่าเป้า) เชียงราย) ในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่าเมืองเหนือของเราก็มีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆที่น่าสนใจมากมาย

แอ่วดีReview ได้มีโอกาสร่วมทริปท่องเที่ยววิถีชุมชนและสุขภาพ ภายใต้โครงการวิจัย “นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงส่งเสริมสุขภาพวิถีน้ำพุร้อนในอารยธรรมล้านนา”ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ ซึ่งการเดินทางในทริป 3 วัน 2 คืน(ดอยสะเก็ด เวียงกาหลง(เวียงป่าเป้า) เชียงราย) ในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่าเมืองเหนือของเราก็มีสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆที่น่าสนใจมากมาย

เริ่มต้นการเดินทางด้วยการกราบพระขอพรเพื่อความเป็นสิริมงคล ณ วัดดอยสะเก็ด วัดเก่าแก่ที่ชาวดอยสะเก็ดนับถือมาช้านาน

วัดพระธาตุดอยสะเก็ด เป็นวัดที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน ตามตำนานวัดพระธาตุดอยสะเก็ด ได้ถูกบันทึกไว้มาตั้งแต่สมัยพุทธกาล กล่าวว่า..พระพุทธเจ้าได้มาปรากฏกายทิพย์บนดอยแห่งหนึ่ง ใกล้ๆ กันมีหนองน้ำซึ่งเป็นที่อยู่ของพญานาคสองตน พญานาคทั้งสองเมื่อได้เห็นพระพุทธเจ้าทรงเปล่งแสงแสดงปาฏิหาริย์เป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง พญานาคจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธา จึงได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ และได้นำดอกบัวในหนองน้ำไปถวายแด่พระพุทธเจ้าเพื่อเป็นพุทธบูชา พระองค์ทรงรับดอกบัวแล้วได้ประทานพระเกศาธาตุแก่พญานาคคู่นั้น พญานาคจึงได้ก่อกองหินขึ้นมาเพื่อบรรจุพระเกศาธาตุประดิษฐานไว้บนดอยแห่งนี้

ต่อมาได้มีนายพรานมาพบเห็นกองหินที่ภายในบรรจุพระเกศาธาตุ จึงได้เกิดความศรัทธาอัศจรรย์ใจและได้บอกกล่าวชักชวนให้มชาวบ้านขึ้นไปสักการะบูชา และได้ช่วยกันก่อสร้างเจดีย์เพื่อครอบพระเกศาธาตุ  จากนั้นชาวบ้านจึงได้ตั้งชื่อดอยแห่งนี้ว่า “ดอยเส้นเกศ” เพราะเป็นดอยที่บรรจุเกศาของพระพุทธเจ้านั่นเอง และได้สันนิษฐานว่า คำว่าดอยเส้นเกศนี่เองต่อมาได้ถูกเรียกเพี้ยนเป็น “ดอยสะเก็ด” หรืออีกข้อสันนิษฐาน คือขณะที่พญานาคได้แปลงร่างเป็นมนุษย์เพื่อนำดอกบัวไปถวายพระพุทธเจ้า พญานาคต้อง สละเกล็ด ออกเพื่อให้ผิวเรียบเนียน ชาวบ้านจึงเรียกดอยแห่งนี้ว่า “ดอยสละเกล็ด” เมื่อเวลาผ่านไปจนถูกเรียกเพี้ยนมาเป็น “ดอยสะเก็ด”

จากวัดดอยสะเก็ด ก็แวะเที่ยวชมสะพานคู่ ณ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ที่นี่ถือได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คแห่งหนึ่งของอำเภอดอยสะเก็ดก็ว่าได้ เป็นตัวแทนแห่งความรัก หรือสะพานแห่งรัก ที่คู่รักนิยมมาคล้องกุญแจกันที่สะพานแห่งนี้

ถัดจากเขื่อนแม่กวงออกไปไม่ไกลนัก ก็มีหมู่บ้านโป่งสามัคคี ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ก็น่าสนใจไม่น้อย สำหรับคนรักสุขภาพและอยากเที่ยวชมวิถีชุมชนในแบบไตลื้อ

หมู่บ้านนี้มีดีอะไรเราถึงต้องมา..ที่นี่มี “น้ำพุร้อนดอยสะเก็ด” เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมเพื่อสุขภาพแบบครบวงจร ซึ่งมีทั้งการแช่น้ำร้อนออนเซ็นในอ่าง บ่อรวม บ่อส่วนตัว บ่อแช่เท้า และสระน้ำอุ่นที่สามารถทำโยคะในน้ำได้ นอกจากนี้ยังมีนวดแผนโบราณอีกด้วย แต่หากอยากพักผ่อนค้างคืน ที่นี่ก็มีโฮมสเตย์ให้เราได้สัมผัสกับวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิด พร้อมชิมอาหารเพื่อสุขภาพ พืชผักแบบออร์แกนิค

ผ่อนคลายจากการแช่ตัว นวดตัวแล้ว ที่นี่ก็ยังมีกิจกรรมดีๆมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำทองม้วน ชมและชิมข้าวหลามไส้ต่างๆที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้าน และยังสามารถเดินชมศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของนายสุจินต์ แสงแก้ว ที่เพาะเลี้ยงกบและการเพราะเลี้ยงสัตว์ปีกที่สวยงาม(ไก่ฟ้า)ได้อีกด้วย

จากหมู่บ้านโป่งสามัคคี เดินทางต่อไปยัง “เวียงกาหลง” ซึ่งที่นี่ขึ้นชื่อในเรื่องของเครื่องปั้นดินเผาที่มีรูปแบบ ลวดลาย ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จากการสืบค้นรูปแบบลวดลายที่พบจากเตาเผาโบราณ มีลวดลายแบบจีน ลายพันธุ์ไม้แบบจีน หรือเวียดนาม ลายเก๋งจีน ลายกิเลน ลายไก่ฟ้า ลายเส้นเหมือนกับเครื่องถ้วยจีน ต่อมาก็ได้มีการพัฒนารูปลักษณ์ที่ต่างไปโดยเป็นเอกลักษณ์ของเวียงกาหลงเอง

สำหรับใครที่อยากพักค้างคืนสัมผัสกับวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิดที่นี่เค้าก็มีโฮมสเตย์บ้านโป่งเทวีไว้รองรับ ในยามเช้าสามารถทำบุญตักบาตร ไหว้พระเจ้าแสนแซ่ ที่วัดบ้านโป่งเทวี พระพุทธรูปเก่าแก่ที่คนในชุมชนให้ความเคารพ

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมภายในชุมชนและสถานที่ใกล้เคียงที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นปั่นจักรยานยามเช้าชมหมู่บ้าน นั่งรถราง ทำลูกประคบ ถุงสมุนไพร ชมการทอผ้า และแช่น้ำพุร้อนทุ่งเทวี

“วัดพระยอดขุนพลเวียงกาหลง” ในอดีตบริเวณที่แห่งนี้ได้มีการค้นพบร่องรอยทางประวัติศาสตร์ของเมืองเวียงกาหลงเก่า ไม่ว่าจะเป็นเตาเผาโบราณ เศษกระเบื้องเคลือบ ต่อมาได้ก่อสร้างเป็นสถานที่พักอาศัย ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญธรรม จัดสถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงาน เรื่องราวอุทยานธรรมพระพุทธเจ้า

จากนั้นเดินทางต่อไปยังบ้านโป่งพระบาท พักโฮมสเตย์ ยามเช้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นการนั่งสมาธิ ทำโยคะ นวดแผนไทย เดินต่อไปยังน้ำพุร้อนโป่งพระบาท อาบน้ำแร่ แช่เท้า นวด อบ สครับผิวด้วยสัปปะรด

น้ำพุร้อนโป่งพระบาท เป็นน้ำพุร้อนตามธรรมชาติ ต้นกำเนิดของน้ำพุร้อนแต่เดิมเป็นป่าไมยราพและแอ่งน้ำที่มีขนาดเล็กประมาณ 2-3 แอ่ง ต่อมากรมทรัพยากรธรณี ก็ได้เข้ามาร่วมสำรวจคุณภาพของน้ำร้อน โดยวัดอุณหภูมิความร้อนของผิวดินอยู่ระหว่าง 48-50 องศา และอุณหภูมิใต้ดินสูงถึง 125-156 องศา ต่อมาได้พัฒนาเป็นแหล่งอาบน้ำอุ่นตามธรรมชาติเพื่อสุขภาพขึ้น

ก่อนจบทริปแวะชมความงดงามของวัดร่องขุ่น แลนด์มาร์คของเชียงราย ที่ใครเมื่อได้มาเยือนยังจังหวัดเชียงรายแล้วต้องแวะ

ขอบคุณทริปดีๆจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยนอร์ธ-เชียงใหม่ มา ณ โอกาสนี้ค่ะ

ภาพ/รีวิว ปาณิสรา นฤประชา/พี่นก(CNX NEWS)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น